กริชรามันห์นั้นในยุคแรกๆ นั้นจะมีด้ามจับกริชแกะสลักเป็นรูปยักษ์
การท่องเที่ยวนั้นได้นำพาเราไปเรียนรู้และพบเจอกับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ การไปในพื้นที่ต่างแดนห่างจากบ้านเกิดเมืองนอน จะสร้างประสบการณ์และความทรงจำใหม่ๆ ให้กับเรา ดั่งเช่นการเดินทางมาเยือนยะลาของเราในทริปนี้
เราได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่อำเภอรามัน แหล่งกำเนิดของกริชรามันห์ อาวุธชั้นสูงอันโด่งดังแห่งคาบสมุทรมลายู เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมแหล่งผลิตกริชรามันห์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในจังหวัดยะลา ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตะโล๊ะหะลอ หมู่ที่ 5 ต.ตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา
ที่นี่เราได้พบกับคุณลุงตีพะลี อะตะนู ประธานกลุ่มกริชรามันห์ที่ได้มาให้ความรู้ในเรื่องของกริชรามันห์ให้กับคณะผู้มาเยือนได้เรียนรู้ ประวัติความเป็นมาของกริชรามันห์นั้นมีอยู่ว่า เมื่อในอดีตเมื่อ 200-300 ปีก่อน เจ้าเมืองรามันหรืออำเภอรามันในปัจจุบันนี้ ประสงค์จะให้มีกริชเป็นอาวุธคู่บ้านคู่เมือง
จึงได้เชิญช่างทำกริชจากประเทศอินโดนีเซีย มีชื่อว่า ปาแนซาระห์ มาสร้างกริชที่มีเอกลักษณ์ประจำตัวขึ้น หลังจากนั้นมากริชรูปแบบนี้จึงเรียกต่อกันมาว่า กริชปาแนซาระห์ ตามชื่อของช่างผู้ทำกริชนั่นเอง
ลักษณะของกริชรามันห์นั้นในยุคแรกๆ นั้นจะมีด้ามจับกริชแกะสลักเป็นรูปยักษ์ในตัววายัง เป็นตัวหนังตัวหนึ่งของชวาที่เข้ามามีอิทธิพลในแถบภาคใต้ของไทย
ต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบเปลี่ยนการแกะสลักด้ามจับเป็นรุปทรงอื่นๆ อีกหลายแบบเช่น หัวรูปไก่ หัวงูจงอาง และรูปคน ส่วนใหญ่ด้ามจับกริชนี้จะสร้างขึ้นมาจากไม้หรือกระดูกปลา เป็นงานฝีมือที่ใช้มือทำทั้งหมด โดยในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตะโล๊ะหะลอ ที่เราได้มาในวันนี้มีการสาธิตการทำกริซให้ได้ชมกันด้วย
ในส่วนของตัวใบกริชนั้น จะมีลักษณะโค้งเว้า เหมือนเกรียวคลื่น และแหลมคม ดูสง่างามและพลิ้วไหว ให้ความรู้สึกถึงความน่าเกรงขามและอ่อนโยนไปในตัว
นอกจากการสาธิตทำกริชแล้วที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตะโล๊ะหะลอ ยังมีการโชว์การแสดงรำกริชรามันห์ให้นักท่องเที่ยวได้ชมอีกด้วย โดยการแสดงนี้ผู้แสดงจะโชว์ลีลาลวดลายการรำกริชอย่างอ่อนช้อยและดุดันเข้มแข็ง สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่ได้เห็นเป็นอย่างมาก เป็นการแสดงที่หาชมยากและควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้จริงๆ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบในด้านงานศิลปะรวมไปถึงประวัติศาสตร์แล้วล่ะก็แนะนำเลยว่าให้ลองมาเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตะโล๊ะหะลอ แห่งนี้กันดู มาเยี่ยมชมตำนานที่ยังคงมีชีวิตอย่างกริชรามันห์ มาเรียนรู้และสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ยังคงสืบทอดศิลปะชั้นสูงนี้ไว้จนถึงทุกวันนี้
เป็นความภาคภูมิใจที่ชาวบ้านอยากจะนำเสนอและรอให้ผู้มาเยือนได้มาเห็นด้วยตาตนเอง มาเก็บภาพความทรงจำที่แสนจะประทับใจแบบนี้ที่นี่กันครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม
ที่ตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตะโล๊ะหะลอ : บ้านบึงน้ำใส หมู่ 5 ต.ตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา
ติดต่อ : 073 543 345-6 (ททท.ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส)