ยูเอ็น เปิดหลักฐานทหารเมียนมาเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา แยกตัวผู้หญิงไปขัง รุมข่มขืนมาราธอน
ยูเอ็น เปิดหลักฐานทหารเมียนมาเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา แยกตัวผู้หญิงไปขัง รุมข่มขืนมาราธอน
วันที่ 23ส.ค.62 คณะผู้สอบสวนของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น สรุปในรายงานชิ้นหนึ่ง เผยว่า ความรุนแรงทางเพศจากฝีมือของทหารเมียนมาที่กระทำต่อผู้หญิงและเด็กหญิงชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา ในปี 2560 เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกองทัพเมียนมา
โดยคณะสอบสวนอิสระ ซึ่งตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็นในปี 2560 กล่าวหารัฐบาลเมียนมาล้มเหลวในการนำตัวผู้กระทำความผิดและผู้รับผิดชอบมาลงโทษ และบอกว่า เมียนมาต้องรับผิดชอบภายใต้ “อนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ฐานล้มเหลวในการสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
กองทัพเมียนมา ใช้กำลังกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือนสิงหาคม 2560 ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 7300,000 คน หลบหนีข้ามพรมแดนเข้าไปยังบังกลาเทศ แต่รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธการกระทำความผิด และระบุว่า การปฏิบัติการของกองทัพในหลายหมู่บ้านในรัฐยะไข่ ภาคเหนือของประเทศ เป็นการตอบโต้การโจมตีของกลุ่มหัวรุนแรงชาวโรฮิงญา
ราดีกา คูมาราสวามี สมาชิกของคณะพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเมียนมาของยูเอ็น
ราดีกา คูมาราสวามี สมาชิกของคณะพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเมียนมาของยูเอ็น แถลงข่าวว่า หลักฐานสำคัญในรายงานชิ้นนี้พบว่ามีการแยกกลุ่มชายออกจากผู้หญิง จากนั้นผู้หญิงก็ถูกนำตัวไปยังบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้าน ถูกรุมข่มขืนไม่ต่างจากเป็นทาสกามนาน 4 วัน จากนั้นทหารก็เผาบ้านหลังนั้นทิ้งไป เจ้าหน้าที่สอบสวนได้พบพูดคุยกับผู้หญิงบางคนที่หนีรอดออกมาได้และหลบหนีข้ามพรมแดนไปยังเมืองค็อกซ์บาซาร์ ที่ตั้งค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ซึ่งก็ทำให้เจ้าหน้าที่ได้สอบสวนพวกเธอ
รัฐบาลเมียนมา ยังได้ปฏิเสธการเข้าพื้นที่ของคณะสอบสวนยูเอ็น แต่คณะสอบสวนได้เดินทางไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ, ไทย และมาเลเซีย และได้พบพูดคุยกับกลุ่มบรรเทาทุกข์ และหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ คณะผู้สอบสวน กล่าวด้วยว่า พวกเขาได้รวบรวมข้อมูลใหม่เกี่ยวกับผู้กระทำความผิด และเพิ่มรายชื่อในบัญชีลับที่จะส่งให้มิเชล บาเชเลต ผู้อำนวยการสิทธิมนุษยชนยูเอ็น และคณะเจ้าหน้าที่สอบสวนอื่น ๆ ของยูเอ็น ที่รับผิดชอบในการรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เพื่อความเป็นไปได้ในการดำเนินคดีในอนาคต
ขณะเดียวกัน ความพยายามในการเริ่มส่งตัวชาวโรฮิงญาหลายพันคนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ กลับเมียนมา มีอันล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่อวันพฤหัสบดี หลังจากผู้ลี้ภัยเกือบ 300 ครอบครัว ปฏิเสธเดินทางกลับเมียนมา เกือบหนึ่งปีหลังความพยายามแบบเดียวกันนี้พังครืน เนื่องจากชาวโรฮิงญาไม่ยอมกลับ
ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บังกลาเทศและเมียนมา 2 ประเทศเพื่อนบ้าน แถลงว่า พวกเขาตกลงกันกำหนดให้วันที่ 22 สิงหาคมเป็นวันเริ่มต้นส่งตัวชาวโรฮิงญา 3,450 คน กลับเมียนมา ตามที่เมียนมาเห็นชอบ แต่ตั้งแต่มีการประกาศแผนการนี้ เจ้าหน้าที่ยูเอ็นและบังกลาเทศ ก็สอบถามชาวโรฮิงญาที่จะถูกส่งตัวกลับเพื่อพิจารณาว่า พวกเขาต้องการกลับหรือไม่ ซึ่งก็พบว่า จนถึงขณะนี้ 295 ครอบครัวไม่ตกลงที่จะเดินทางกลับ แม้ว่าทางการบังกลาเทศจัดเตรียมรถบัสและรถบรรทุกเพื่อขนส่งพวกเขาข้ามพรมแดนแล้วก็ตาม และแม้ว่า รัฐบาลเมียนมาบอกว่า พวกเขาพร้อมรับชาวโรฮิงญากลับ แต่ผู้ลี้ภัยก็ปฏิเสธเนื่องจากกลัวว่าจะเกิดความรุนแรงอีก
ที่มา: www.tnnthailand.com
- ยูเอ็นเผย ทหารพม่าก่อความรุนแรงทางเพศต่อมุสลิมโรฮิงญา เทียมเท่าอาชญากรรมสงคราม
- ชาวโรฮิงญายังหวาดผวา เปรยไม่อยากกลับพม่าถ้าไม่รับรองสิทธิ์
- พม่าเตรียมแจงมุสลิมโรฮิงญา จะกลับประเทศได้อย่างไร?
- มหาเธร์ ลั่น! ช่วยโรฮิงยา จี้ผู้นำอาเซียน หยุดกดขี่ชนกลุ่มน้อย
- อึ้ง!! ประธานาธิบดีพม่าชี้ 2561 เป็นปีมงคลของรัฐยะไข่
- จนท.พม่าอ้าแขนป้อง “ซูจี” นิ่งเฉยไม่วิจารณ์ศาลสั่งคุกนักข่าว