ศาลปกครอง นัดชี้ชะตา 24 เมยระงับขึ้นค่ารถประจำทางหรือไม่ เชื่อศาลจะเห็นใจคนยากคนจน ติงผลักภาระต้นทุนค่าพนงมาให้ปชช
"ศรีสุวรรณ" เผย ศาลปกครอง นัดชี้ชะตา 24 เม.ย.ระงับขึ้นค่ารถประจำทางหรือไม่ เชื่อศาลจะเห็นใจคนยากคนจน ติงผลักภาระต้นทุนค่าพนง.มาให้ปชช. จี้รัฐดึงสัมปทานรถเอกชนมาบริหารเอง เพื่อปฏิรูปทั้งระบบ ด้านรถร่วม ย้ำไม่ขึ้นค่าโดยสารอยู่ไม่ได้
วันนี้ (22เม.ย.) ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนในคดีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นฟ้องคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กรณีอนุมัติให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร รถโดยสารประจำทางสาธารณะทั้งใหม่และเก่า ในหลายๆหมวด ในอัตราตั้งแต่ 1-7 บาท เพื่อไต่สวนคำขอคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับคำสั่งขึ้นค่ารถเมล์ทั้งระบบโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการสร้างภาระให้เกิดขึ้นกับประชาชนเกินสมควร ตามมาตรา 9(1) แห่งพ.ร.บจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยศาลปกครองกลางได้ทำการไต่สวนประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
จากนั้นนายศรีสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการไต่สวนว่า องค์คณะฯได้ให้คู่กรณีแต่ละฝ่ายชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงต่อศาล และเมื่อไต่สวนเสร็จศาลปกครองกลาง จะมีคำสั่งเรียก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) และบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.)เข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องในคดีนี้ด้วย และให้ผู้ประกอบการเอกชนสามารถยื่นคำร้องเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดได้ หลังจากนั้นศาลกำหนดว่าจะมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ในวันพุธที่ 24 เม.ย.นี้ ทั้งนี้ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าศาลปกครองจะเห็นใจคนยากคนจนในเรื่องดังกล่าว เพราะเชื่อว่าผู้ประกอบการสามารถที่จะจัดสรรเรื่องการลดต้นทุนการเดินรถได้อยู่แล้ว แต่หากขึ้นค่าโดยสารแม้เพียง 1 บาท แต่คนยากคนจนจะต้องใช้บริการรถประจำทางทุกวันก็ถือเป็นเงินจำนวนมาก และที่สำคัญคือต้นทุนค่าพลังงานในเรื่องราคาน้ำมันดีเซลกับราคาก๊าซ LNG ที่ยังไม่มีการผกผันในทิศทางที่สูงขึ้นจนเป็นต้นเหตุให้ต้องขึ้นค่าโดยสารแต่อย่างใด แต่ต้นทุนส่วนใหญ่เป็นเรื่องของค่าเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานลูกจ้างเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการจะผลักภาระมาให้คนยากคนจนจึงไม่เป็นธรรม ถือเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนมากเกินสมควร และขอเรียกร้องให้รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีสั่งให้เรียกคืนสัมปทานการเดินรถของเอกชนที่หมดอายุทั้งหมดมาดำเนินการเอง โดยเฉพาะรถร่วม ขสมก. เพื่อที่จะได้นำไปสู่การปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วได้
ด้านนางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า ทางสมาคมฯผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางขอขึ้นค่าโดยสารเพื่อให้สามารถปฏิรูปการเดินรถประจำทางได้ หากได้ขึ้นราคาค่าโดยสารตามอัตรารถใหม่ ทางสมาคมฯก็พร้อมที่จะนำรถใหม่กลับมาให้บริการในระบบภายใน 1-2 เดือน แต่หากยิ่งชะลอการขึ้นค่าโดยสารก็จะยิ่งมีรถร่วมให้บริการน้อยลงไปอีก โดยปัจจุบันมีข้อมูลผู้ประกอบการเลิกให้บริการเดินรถแล้ว 500-2,000 คัน ทำให้เหลือรถให้บริการในระบบเพียง 1,000 คันเท่านั้น เพราะไม่มีเม็ดเงินมาประกอบการต่อ ดังนั้นหากยังชะลอการขึ้นค่าโดยสารต่อไปอีก ผู้ประกอบการก็คงล้มหายตายจากไปจากระบบไปเรื่อยๆ
ขณะที่นายบรรยงค์ อัมพรตระกูล ประธานสหพันธ์รถเมล์ กทม. และปริมณฑล และประธานชมรมรถร่วม ขสมก. กล่าวว่า การจะให้ผู้ประกอบการนำรถใหม่เข้าในระบบได้จะต้องมีการปรับค่าโดยสาร ซึ่งตนมองว่าการปรับราคารถเมล์ขึ้น 1 บาท จากเดิม 9 บาท ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการมากนัก เพราะปัจจุบันต้นทุนการเดินรถของ ขสมก. และรถร่วม ขสมก. สูงขึ้น แม้ผู้ประกอบการรถร่วม ขสมก.บางส่วนจะเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ LNG เป็นเชื้อเพลิงแล้ว แต่ก็ยังคงมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น
ที่มา: mgronline.com