มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับ นักวิจัยค้างคาวจาก 7 สถาบันทั่วโลก ค้นพบและตั้งชื่อค้างคาวชนิดใหม่ในวงศ์ค้างคาวหน้ายักษ์ที่สำรวจพบจากป่าฮาลา-บาลา
ม.สงขลานครินทร์ ค้นพบค้างคาวชนิดใหม่ของโลก “ค้างคาวหน้ายักษ์เล็กสีเขม่า”
ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข นักวิจัยพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี และนางสาวพุธิตา ว่องไวยุทธ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับ นักวิจัยค้างคาวจาก 7 สถาบันทั่วโลก ค้นพบและตั้งชื่อค้างคาวชนิดใหม่ในวงศ์ค้างคาวหน้ายักษ์ที่สำรวจพบจากป่าฮาลา-บาลา และป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส
รวมทั้งตัวอย่างจากประเทศมาเลเซียด้วย โดยตั้งชื่อว่า “Hipposideros Kingstonae” เพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr.Tigga Kingston ผู้ก่อตั้งหน่วยวิจัยและอนุรักษ์ค้างคาวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEABCRU) และผู้นำเครือข่ายความหลากหลายของค้างคาวโลก (GBatNet) โดยค้างคาวชนิดใหม่นี้มีชื่อไทยว่า “ค้างคาวหน้ายักษ์เล็กสีเขม่า” ตามลักษณะของสีขน
โดยค้างคาวชนิดนี้ พบเพียงสองพื้นที่ในไทยเท่านั้น กับอีก 1 แห่งในคาบสมุทรมลายูของประเทศมาเลเซีย และอีก 2 แห่งในรัฐซาบาห์ของมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียว แต่คาดว่าจะพบการกระจายของชนิดนี้เพิ่มขึ้นในอนาคตเมื่อมีการศึกษาตัวอย่างอ้างอิงเพิ่มเติม
นอกจากนี้ การศึกษาครั้งนี้ยังพบค้างคาวชนิด “Hipposideros einnaythu” หรือ ค้างคาวหน้ายักษ์เล็กพม่า ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้พบการกระจายชนิดนี้ในประเทศพม่าเท่านั้น
ที่มา : หาดใหญ่โฟกัส