นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่าโลกนั้นแบ่งออกเป็นชั้นๆ พบว่าแก่นโลกชั้นใน (Inner Core)
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่าโลกนั้นแบ่งออกเป็นชั้นๆ ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด แต่องค์ความรู้นี้ไม่ได้เกิดจากการใช้เครื่องมือลงไปสำรวจ เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันไม่สามารถทำได้ เช่น การทำเหมืองใต้ดินสามารถขุดลึกลงไปได้ 3-4 กิโลเมตร ในขณะที่การขุดเจาะน้ำมันมีความลึกสูงสุด 6-7 กิโลเมตร นอกจากนี้จากการศึกษา หินแปลกปลอม (xenolith) ที่ติดมากับแมกมาและแข็งตัวกลายเป็นหินพบว่าหินดังกล่าวอยู่ที่ระดับความลึก 50-300 กิโลเมตร หรือแม้กระทั่งกระบวนการเกิด หินคิมเบอร์ไลต์ (kimberlite) ก็พบว่ามีความลึก 400 กิโลเมตร โดยประมาณ
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งในประเทศจีน พบว่าแก่นโลกชั้นใน (Inner Core) ซึ่งมีลักษณะเหมือนลูกเหล็กไฟที่มีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ที่อยู่ข้างในสุดของโลก เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไหวสะเทือนที่เป็นพลังงานภายในโลกที่อาจนำไปสู่การเกิดแผ่นดินไหวมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 1960-2021 นอกจากนี้ ข้อมูลนี้ยังแสดงให้เห็นว่าเมื่อปี 2009 การหมุนของแก่นโลกชั้นในเคยหยุดหมุนชั่วคราวอีกด้วย
อย่างไรก็ดี อย่าพึ่งตกใจไปเพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่แก่นโลกชั้นในเคยหยุดการเคลื่อนที่ แต่มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1970 ซึ่งนักวิทยาศาตร์อธิบายว่า ปรากฎการณ์นี้เกิดจากผลกระทบของการสั่นที่จะเกิดขึ้นในทุกๆ 70 ปี และหลังจากการหยุดหมุนชั่วคราว แก่นโลกชั้นในก็จะค่อยๆ หมุนไปในทิศทางตรงกันข้าม
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การหยุดเคลื่อนที่หรือการเปลี่ยนทิศทางการหมุนของแก่นโลกชั้นในจะไม่สร้างผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของแก่นโลกชั้นอื่นๆ เนื่องจากแก่นโลกชั้นในเป็นของแข็ง ซึ่งแก่นโลกชั้นอื่นๆ เป็นของเหลว จึงทำให้การเคลื่อนไหวของแก่นโลกชั้นในจะแตกต่างจากชั้นอื่นๆ ของโลก
ข้อมูลจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ 2 ครั้ง ก็มีข้อสังเกตในทำนองเดียวกันว่า เกิดการหยุดหมุนของใจกลางโลกในช่วงปี ค.ศ. 1971 และหลังจากนั้น ใจกลางโลกก็เปลี่ยนทิศทางหมุนไปทางทิศตะวันออก ซึ่งนำไปสู่แนวคิดของทีมวิจัยที่เชื่อว่า ส่วนที่เป็นใจกลางโลกนั้น จะหยุดหมุนและเปลี่ยนทิศทางการหมุนไปทุก ๆ 70 ปี
ทฤษฎีเบื้องหลังแนวคิดนี้ก็คือสนามแม่เหล็กของโลกเป็นพลังที่ดึงส่วนที่เป็นใจกลางโลกและทำให้เกิดการหมุน ซึ่งผลวิจัยใหม่นี้อาจช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติอันลึกลับของแกนกลางโลกได้มากขึ้น รวมถึงผลกระทบของมันที่มีต่อเปลือกและชั้นอื่นของโลก แต่ยังคงต้องใช้เวลาอันยาวนานมากกว่าจะไปถึงความเข้าใจที่สมบูรณ์ได้
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวที่แปลกประหลาดของแก่นโลกอาจดูห่างไกลจากเรา แต่จริงๆ แล้วมันมีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิตเหนือพื้นผิวของโลกมากพอสมควร โดยเฉพาะแก่นโลกชั้นนอก ที่มีอิทธิพลต่อสนามแม่เหล็กที่มีคุณสมบัติช่วยปกป้องโลกจากรังสีที่อันตรายมากมายที่มาจากดวงอาทิตย์
และการเคลื่อนไหวของแก่นโลกชั้นในที่ผันผวนก็อาจจะสร้างผลกระทบเช่นกัน ซึ่งนักธรณีวิทยาเชื่อว่าพลังงานไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากแก่นโลกชั้นใน ส่งผลให้ของเหลวของแก่นโลกชั้นนอกเคลื่อนที่และทำให้เกิดสนามเหล็กขึ้น
แต่ก็ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามันจะสร้างผลกระทบอะไรแน่ๆ กับเรา ถึงอย่างนั้นการค้นพบนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงทางวิทยาศาสตร์อย่างดุเดือดขึ้นว่าตกลงแล้วแก่นโลกชั้นในมีอิทธิพลต่อโลกของเราอย่างไรบ้าง? ดังนั้นเราอาจจะรู้จักแก่นโลกชั้นในมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้