จากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท) ได้มีประกาศงดให้บริการขบวนรถเชิงพาณิชย์ (รถทางไกล) ขบวนรถเชิงสังคม
จากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้มีประกาศงดให้บริการขบวนรถเชิงพาณิชย์ (รถทางไกล) ขบวนรถเชิงสังคม (รถระยะสั้น) จำนวน 121 ขบวน ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2564 โดยอ้างจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีนโยบายขอความร่วมมือให้ประชาชนหลีกเลี่ยง หรือชะลอการเดินทางเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น แม้ล่าสุดจะมีการทยอยเปิดเดินรถในเส้นทางต่างๆ หลังมีมาตรการผ่อนปรนการเดินทางให้แก่ประชาชนภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แล้ว โดยเฉพาะรถไฟทางไกลสายหลักที่ รฟท.กลับมาเปิดให้บริการ คือ สายเหนือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, สายอีสาน กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-หนองคาย และสายใต้ กรุงเทพฯ-ชุมทางทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจะเห็นได้ว่าสายอื่นรถไฟเปิดให้บริการไปถึงปลายทาง ยกเว้นสายใต้เพียงเส้นทางเดียวที่วิ่งแค่สถานีทุ่งสง
ส่งผลทำให้ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก โดยเฉพาะประชาชนที่ต้องการเดินทางไปจังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เนื่องจากขบวนรถสายใต้จากสถานีกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่สถานีชุมทางทุ่งสงนั้น จะออกจากสถานีกรุงเทพฯ เวลา 05.00 น. กำหนดถึงสถานีชุมทางทุ่งสง 16.04 น. แต่ในความเป็นจริงขบวนรถจะล่าช้าและไปถึงทุ่งสงหลัง 18.00 น.
ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางต่อไปยัง พัทลุง หาดใหญ่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส จะต้องพักค้างอยู่ที่ทุ่งสงเพื่อรอขบวนรถท้องถิ่นในตอนเช้าของอีกวัน ซึ่งเท่ากับต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งค่าที่พัก ค่าอาหาร ทำให้มีประชาชนจำนวนมากต้องใช้พื้นที่สถานีรถไฟเป็นที่พักรอ ซึ่งแต่ละคืนมีจำนวนนับร้อยคน ซึ่งเจ้าหน้าที่สถานีทุ่งสงได้ให้การดูแลประชาชนมาโดยตลอด
แหล่งข่าวกล่าวว่า เรื่องนี้ประชาชนไม่ควรเดือดร้อนและลำบากขนาดนี้ หากผู้บริหาร รฟท.หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจเรื่องการเดินรถ มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความเข้าใจในบริการของรถไฟอย่างแท้จริง ที่ผ่านมารถไฟสายใต้ถือเป็นเส้นทางหลักเชิงพาณิชย์ของ รฟท. เพราะประชาชนนิยมใช้บริการรถไฟกันมาก ที่ผ่านมาต้องหยุดวิ่งเพราะล็อกดาวน์จากโควิด-19 แต่เมื่อมีการผ่อนปรน และพบว่ารถ บขส.วิ่งสายใต้ทุกเส้นทางแล้ว แต่เหตุใด รฟท.ไม่ยอมวิ่ง ประชาชนสอบถาม ร้องเรียน ไปยังฝ่ายการโดยสาร ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดเดินรถหลายครั้งแต่ไม่ได้รับการพิจารณาใดๆ โดยอ้างเรื่องเคอร์ฟิวเพื่อตัดปัญหา
ล่าสุด รฟท.เปิดเดินรถ 7 ขบวนไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ ยิ่งทำให้คนใต้รู้สึกอึดอัด และเห็นว่า รฟท.ให้บริการเพื่อตอบสนองการเมืองมากกว่าให้บริการประชาชน และไม่เหลียวแลประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญของ รฟท.มาโดยตลอด
แหล่งข่าวกล่าวว่า พื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย มีแหล่งท่องเที่ยว มีสินค้าทางการเกษตร และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ การหยุดเดินรถโดยไม่พิจารณาถึงความจำเป็น ข้อเท็จจริง เหมือน รฟท.ทอดทิ้งประชาชนในภาคใต้ และการที่ผู้บริหาร รฟท.ระบุว่าการกำหนดว่าจะเดินรถเส้นทางใดจะมองค่าการตลาด ไม่วิ่งหากขาดทุน จึงเลือกที่จะหยุดวิ่งสายใต้ ก็ยิ่งทำให้ รฟท.ไม่มีรายได้ และขาดทุนเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะหากผู้โดยสารน้อย แต่ยังมีสินค้าทางการเกษตร ผลไม้ภาคใต้อีกจำนวนมาก เมื่อรถไฟไม่มี ชาวสวนจึงต้องหันไปใช้รถยนต์แทนทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มมากขึ้นอีก
นอกจากนี้ หลายจังหวัดภาคใต้ที่มีเส้นทางรถไฟผ่านเป็นพื้นที่อ่อนไหว ที่ผ่านมาการให้บริการเดินรถไฟ เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการด้านความมั่นคง ขณะที่การหยุดเดินรถนานๆ จะมีผลตามมาอย่างมาก เช่น เขตทางอาจถูกบุกรุกพื้นที่ สภาพทางขาดการดูแลอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเป็นช่องโหว่ให้บุคคลไม่หวังดี รวมถึงขบวนรถที่จอดนิ่งเป็นเวลานานมีสภาพเสื่อมโทรม เสียค่าซ่อมบำรุงเพิ่ม แต่หากมีการเดินรถไฟสม่ำเสมอจะมีผลดีกว่า เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน เกิดความมั่นคงและปลอดภัย ประชาชนเดินทางไปมาได้สะดวก เศรษฐกิจเกิดการขับเคลื่อน