พญเพชรดาว โต๊ะมีนา สส บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย สะอื้นกลางสภา ระหว่างอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ
เมื่อวานซืน (15 ก.ย. 64) พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย สะอื้นกลางสภา ระหว่างอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย โดย พญ.เพชรดาว ถือเป็นทายาทรุ่นที่สามของ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นปู่ของเธอ และถูกบังคับให้สูญหายเมื่อ 13 สิงหาคม 25497 ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 67 ปี เธอกล่าวตอนหนึ่งว่า “ดิฉันอภิปรายเรื่องนี้ด้วยสายเลือดของดิฉัน รอวันนี้เพื่อรับหลักการ”
สำหรับในการประชุมฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้แถลงเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว โดยได้เน้นย้ำความสำคัญของการผลักดันร่างพระราชบัญญัติฯ พร้อมทั้งชี้แจงหลักการ เหตุผล ความจำเป็น และสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ ประโยชน์ที่จะได้รับหากร่างพระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ อาทิ การยืนยันนโยบายของรัฐบาลว่าไม่สนับสนุนการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นด้านกระบวนการยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน เป็นต้น
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ที่ผ่านมา ต่างชาติได้รวบรวมกรณีการถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทยอย่างน้อย 86 ราย นับเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน หลังรัฐประหารปี 57 มีข้อร้องเรียนการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กว่า 250 เรื่อง ซึ่งไทยถูกตั้งคำถามจากกว่า 10 ประเทศ ในนามของพรรคก้าวไกลตนต้องขอโทษต่อผู้สูญเสียทุกคน ที่สภาแห่งนี้เราน่าจะทำกฎหมายฉบับนี้ได้เร็วกว่านี้ แต่หากเป็นไปได้ ตนคิดว่าการเยียวยา และการคืนความยุติธรรมที่จะเกิดในร่างกฎหมายฉบับนี้นั้น หากจะมีขึ้นจริง ขอให้ไม่มีใครที่ต้องตกเป็นผู้สูญหาย หรือถูกกระทำทรมานอีก ขอให้กฎหมายฉบับนี้จบในรุ่นเราจริง
ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ในยุค คสช.มีผู้ที่ถูกอุ้มหายแล้วอย่างน้อย 9 คน ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อต้าน คสช. ซึ่งมี 3 คน ที่ถูกพบว่าเสียชีวิตแล้วโดยถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม และเมื่อ 4 มิ.ย.63 เกิดกรณีอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตยศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้าน คสช.
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เมื่อเทียบกับร่างฉบับครม.แล้ว ร่างของกมธ.กฎหมายฯ ยังเพิ่มความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือการ กระทำที่ทำให้เกิดอันตรายแก่กาย จิตใจ หรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลเข้ามา และให้ความผิดทั้งหมดตามร่างพ.ร.บ.นี้ไม่มีอายุความ เนื่องจากเป็นความผิดที่ใช้เวลายาวนานในการรวบรวมหลักฐานและพิจารณาข้อเท็จจริง และกำหนดให้มีการสืบสวนสอบสวนคดีอุ้มหายที่เกิดขึ้นก่อนที่ร่างพ.ร.บ.นี้จะบังคับใช้ด้วย เพื่อค้นหาความจริงและคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกกระทำในอดีต
จึงหวังว่าการรับหลักการร่างพ.ร.บ.นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดวงจรอุบาทว์ ที่ประชาชนเห็นต่างจากรัฐ จนบาดเจ็บล้มตายหรืออุ้มหายไร้ร่องรอย
ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนเห็นชอบที่จะรับหลักการทั้ง 4 ร่าง เพราะมีเนื้อหาที่ดีที่แตกต่างกัน เราต้องรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้เพราะ ถ้าช้ากว่านี้ นอกจากสูญหายแล้ว จะกลายเป็นเกิดการคลุมหัว อุ้มฆ่าตามมาในอนาคต กฎหมายนี้จะเป็นการป้องกันและปราบปราบไม่ให้เกิดการทรมานและบังคับให้บุคคลสูญหาย
ส่วนการกำหนดบทลงโทษ ก็มีความสำคัญ ผู้กระทำจะต้องได้รับโทษอย่างเหมาะสม โดยจะอ้างสิ่งใดมายกเว้นความผิดไม่ได้ ทั้งนี้ ขอฝากให้ กมธ.นำหลัการที่ดีในแต่ละร่างไปปรับให้สอดรับกันด้วย
จากนั้น น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 4 ร่าง โดยช่วงหนึ่ง น.ส.เพชรดาว ได้ยกเหตุการณ์คนในครอบครัวของตัวเองที่ถูกบังคับให้สูญหาย ด้วยเสียงสะอื้นและสั่นเครือ พร้อมขอให้การพิจารณาโทษของคดีนี้ไม่มีอายุความ
ทั้งนี้ ใน (วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2564 ) เวลา 13.40 น. ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ วาระ 1 โดยมีมติเห็นด้วย จำนวนทั้งสิ้น 368 คน (จำนวนผู้ลงมติ 365 คน เห็นด้วย 363 คน งดออกเสียง 1 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน และ ขอโหวตเห็นด้วยเพิ่มเติม อีก 5 คน รวม 368 คน) โดยให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับของกระทรวงยุติธรรม เป็นหลัก รวมทั้งได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ในรายละเอียดต่อไป
ที่มา ข่าวสด