ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องสนใจอีกหนึ่งสายพันธุ์ นั่นก็คือแลมบ์ดา (Lambda)
โควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา ซึ่งพบครั้งแรกในเปรูเมื่อปีที่แล้ว ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (Variant of Interest) หลังพบมันแพร่ระบาดในหลายสิบประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาใต้
ตัวกลายพันธุ์แลมบ์ดามีสัดส่วนคิดเป็น 82% ของเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในเปรูในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และเคสผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 1 ใน 3 ในชิลี ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีต้นตอจากตัวกลายพันธุ์แลมบ์ดา นอกจากนี้แล้วสหราชอาณาจักรก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่พบเห็นเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์แลมบ์ดาประปราย ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น อาร์เจนตินาและเอกวาดอร์ รายงานพบความชุกที่เพิ่มขึ้นของสายพันธุ์ใหม่นี้เช่นกัน
ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน แลมบ์ดาถูกมองในฐานะตัวกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้สำหรับตัวกลายพันธุ์หนึ่งๆ ที่อาจแพร่กระจายเชื้อง่ายกว่าตัวดั้งเดิม เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดในหลายประเทศ หรือในทางทฤษฎี สามารถก่ออาการเจ็บป่วยรุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือหลีกเลี่ยงแนวทางรักษาและวัคซีนต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างช่ำชอง
อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันนี้มันยังเป็นกรณีเดียวกับตัวกลายพันธุ์อื่นๆ อย่างเช่นตัวกลายพันธุ์เดลตา ที่ยังเร็วเกินที่จะบอกว่า แลมบ์ดา มีความร้ายแรงกว่าสายพันธุ์อื่นหรือสามารถต้านทานวัคซีนหรือวิธีการรักษาต่างๆ
การแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าไม่ได้หมายความว่าตัวกลายพันธุ์นั้้นจะมีความอันตรายร้ายแรงกว่าตัวดั้งเดิม และแม้วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคอาจมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตาแค่ราวๆ 64% แต่ยังคงมีประสิทธิภาพมากกว่า 90% ในการป้องกันการติดเชื้ออาการหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล
องค์การอนามัยโลก รายงานว่า สายพันธุ์แลมบ์ดามีการกลายพันธุ์ที่อาจเพิ่มความสามารถแพร่เชื้อ หรือทำให้เชื้อไวรัสต่อต้านแอนติบอดีมากขึ้น ทว่า หลักฐานที่มีอยู่ในขณะนี้ยังไม่เพียงพอและจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern) เป็นสายพันธุ์ที่ต้องได้รับการเฝ้าระวังจากองค์การอนามัยโลก แต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน
ตัวอย่างล่าสุดคือ สายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในอินเดีย ซึ่งถูกจัดเป็น “สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ” จนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม ก่อนหน่วยงานของสหประชาชาติแห่งนี้จะปรับเปลี่ยนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เนื่องจากแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
ที่มา Manager