ผู้แทนของเมียนมาประจำองค์การสหประชาชาติยังได้ชูสัญลักษณ์สามนิ้วแสดงอารยะขัดขืนไม่ยอมรับการก่อรัฐประหารของกองทัพเมียนมากลางที่ประชุมยูเอ็นด้วย
ทูตเมียนมาชูสามนิ้ว ต้านรัฐประหารกลางประชุมยูเอ็น
นายจอ โม ตุน ทูตเมียนมาประจำองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เรียกร้องให้ยูเอ็น ใช้มาตรการที่จำเป็นทุกทางเพื่อขัดขวางกองทัพเมียนมา และนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศ
ผู้แทนของเมียนมาประจำองค์การสหประชาชาติยังได้ชูสัญลักษณ์สามนิ้วแสดงอารยะขัดขืนไม่ยอมรับการก่อรัฐประหารของกองทัพเมียนมากลางที่ประชุมยูเอ็นด้วย
นายจอ โม ตุน กล่าวต่อหน้าสมาชิกสมัชชาสหประชาชาติ 193 ประเทศ เมื่อวานนี้ (26 ก.พ.) หลังจากนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และนางคริสติน ชราเนอร์ เบอร์กเนอร์ ทูตพิเศษว่าด้วยกิจการเมียนมา ออกมาเตือนว่าไม่ควรมีชาติใดให้การรับรองหรือความชอบธรรมกับรัฐบาลทหารของเมียนมา
“เราจำเป็นที่จะต้องให้ประชาคมระหว่างประเทศปฏิบัติอย่างแข็งกร้าวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อยุติการก่อรัฐประหารของกองทัพโดยเร็วที่สุด เพื่อหยุดยั้งการกดขี่ข่มเหงประชาชาติผู้บริสุทธิ์ เพื่อคืนอำนาจสู่ประชาชน และเสริมสร้างประชาธิปไตย” นายจอ โม ตุน กล่าวก่อนจะได้รับเสียงปรบมือแสดงความชื่นชมจากสมาชิกสมัชชาสหประชาชาติ ทั้งจากชาติตะวันตก และชาติที่นับถือศาสนาอิสลาม
นายจอ โม ตุน ทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การลุกขึ้นกล่าวถ้อยแถลงที่สวนทางกับผู้กุมอำนาจในประเทศเช่นที่นายจอ โม ตุน ทำนั้นแทบจะไม่เคยเกิดขึ้น และเขาเองก็มีท่าทีสะเทือนใจในขณะที่อ่านแถลงการณ์ในนามของกลุ่มนักการเมือง ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา โดยนายจอ โม ตุน ระบุว่าเขาเป็นผู้แทนของรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่นางชราเนอร์ เบอร์กเนอร์ ทูตพิเศษว่าด้วยกิจการเมียนมา ต้องการให้ชาติสมาชิกยูเอ็นร่วม “ส่งสัญญาณแสดงการสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างชัดเจน” และขอร้องให้ชาติ “ผู้ทรงอิทธิพล” ช่วยกดดันให้กองทัพเมียนมายอมรับให้คณะผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าไปประเมินสถานการณ์ในประเทศ
เมื่อวานนี้ (26 ก.พ.) ชาวเมียนมายังคงออกมาชุมนุมเพื่อแสดงพลังต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ถูกทหารควบคุมตัวไว้ในบ้านพักอย่างต่อเนื่อง โดยที่นครย่างกุ้งมีชาวเมียนมาไปประท้วงที่ด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย หลังจากรัฐบาลไทยให้การต้อนรับนายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา เมื่อวันที่ 24 ก.พ.
กลุ่มผู้ชุมนุมชูแผ่นป้ายที่มีข้อความร้องขอให้ไทยไม่ให้การยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมา และขอให้เคารพคะแนนเสียงของพวกเขาที่เลือกพรรคของนางซู จี ให้เป็นรัฐบาล เช่น “ขอให้เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน” “เราโหวตให้พรรค NLD” และ “เราไม่ต้องการการเลือกตั้งใหม่”
ขณะเดียวกันตำรวจได้เสริมกำลังเพื่อสกัดมวลชนเข้าไปประท้วงตามสถานที่สำคัญและสถานทูตในย่างกุ้ง พร้อมขู่จะสลายการชุมนุม รวมทั้งมีรายงานการจับกุมนายยูกิ คิตาซูมิ ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นในขณะที่ตำรวจเข้าเคลียร์การจราจรบนถนนสายหลักในเมือง ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าเขาถูกกระบองตีเข้าที่ศีรษะแต่โชคดีที่เขาสวมหมวกนิรภัย ด้านตำรวจปฏิเสธข่าวว่าเขาถูกตี แต่ยอมรับว่าได้จับกุมผู้สื่อข่าวรายนี้ไปและจะปล่อยตัวหลังให้ปากคำเสร็จสิ้น
นายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับ นายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่า เป็นเรื่องที่ทางเมียนมาร์ขอเยี่ยมคารวะมา หลังจากที่เขาพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางการต่างประเทศ “เมื่อเขาขอมาก็ต้องพบเขา แต่ไม่ได้หมายถึงว่าไปรับรองอะไรทั้งสิ้น”
“ที่ผมคุยกับเขาก็เพื่อจะทราบพัฒนาการทางด้านการเมืองและสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์ พร้อมแสดงความห่วงใยในนามของประเทศที่มีชายแดนติดกัน ประชาชนไปมาหาสู่กัน…เรื่องการเมืองก็เป็นเรื่องของประเทศเขา ก็เป็นกำลังใจให้เดินหน้าประเทศไปสู่ประชาธิปไตยให้ได้โดยเร็วที่สุด” พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่กระทรวงกลาโหม