จากกรณีภาคีนักเรียน KKC และกลุ่มนักเรียนเลว ประกาศเชิญชวนนักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปเรียนในวันที่ 1 ธค63 พร้อมกับเผยรายชื่อโรงเรียนทั้งหมด 23 โรงเรียนที่จะร่วมแต่งไปรเวท
เปิดโทษเด็ก 'ไม่ใส่ชุดนักเรียน'
จากกรณีภาคีนักเรียน KKC และกลุ่มนักเรียนเลว ประกาศเชิญชวนนักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปเรียนในวันที่ 1 ธ.ค.63 พร้อมกับเผยรายชื่อโรงเรียนทั้งหมด 23 โรงเรียนที่จะร่วมแต่งไปรเวท ขณะที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันจะไม่ให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากแต่ละโรงเรียนมีกฎระเบียบเรื่องการแต่งกายที่ชัดเจนอยู่แล้ว ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เรื่อง ข้อสังเกตทางกฎหมาย : นักเรียนยังสามารถเข้าเรียนได้ แม้แต่ง “ไปรเวท” ไปโรงเรียน โดยระบุ
1 ธันวาคม 2563 เป็นวันเปิดภาคเรียนของหลายโรงเรียน ล่าสุด 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพจ ภาคีนักเรียน KKC ได้โพสต์ชวนนักเรียนทุกคนใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนเพื่อเป็นการตั้งคำถามว่าชุดนักเรียนมีความสำคัญจริงหรือ ซึ่งต่อมาเพจนักเรียนเลวก็ได้ร่วมกิจกรรมนี้โดยการชักชวนให้นักเรียนแต่งกายตามที่ตนพอใจไปเรียนด้วยเช่นกัน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดข้อกฎหมายว่า กฎระเบียบอะไรที่บังคับให้นักเรียนต้องใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียน และถ้านักเรียนไม่แต่งชุดนักเรียน คุณครูอาจดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
ปัจจุบันมีกฎหมายคือพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 มาตรา 5 กำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบนักเรียน โดยลักษณะของเครื่องแบบนักเรียน วิธีการแต่ง เงื่อนไขในการแต่ง และการยกเว้นไม่ต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียน ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกําหนด ซึ่งนักเรียนผู้ใดไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่ได้รับยกเว้นตามวรรคสองอาจได้รับโทษทางวินัยตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกําหนด
ข้อสังเกตคือ กฎหมายดังกล่าวนั้นออกมาในสมัยรัฐบาล สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยกฎหมายซึ่งบังคับใช้ก่อนหน้าคือ พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2482 นับเป็นเวลากว่า 81 ปีที่นักเรียนไทยถูกจำกัดเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
ตามกฎหมายใครคือนักเรียน
พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 กำหนดว่า “นักเรียน” คือ ผู้ซึ่งศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ซึ่งศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งในกรณีนี้ย่อมหมายถึงนักเรียนในสถานศึกษาของเอกชนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา) ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ด้วย
เครื่องแบบนักเรียนและข้อยกเว้น
กระทรวงศึกษาธิการได้ออก ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดรายละเอียดเครื่องแบบตามระดับและประเภทการศึกษา และใช้บังคับกับนักเรียนทั่วประเทศดังที่เราได้เห็นกันอยู่ทั่วไป เว้นแต่สถานศึกษานั้นจะมีกฎหมายกําหนดเรื่องการแต่งกายไว้เป็นการเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ในข้อ 14 ของระเบียบดังกล่าวยังเปิดช่องให้สถานศึกษาใดมีความประสงค์จะขอใช้เครื่องแบบเป็นอย่างอื่นนอกจากที่กําหนดในระเบียบนี้ สามารถขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งหรือผู้กํากับดูแลสถานศึกษานั้นได้ และระเบียบข้อ 16 ยังกำหนดว่า ในกรณีมีเหตุจําเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ให้สถานศึกษาพิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบนักเรียนได้ตามความเหมาะสมอีกด้วย
ข้อน่าพิจารณาคือ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ฉบับเดียวกันนี้ได้ยกเว้นการแต่งเครื่องแบบนักเรียนซึ่งศึกษาในสถานศึกษาที่จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้แต่งกายแบบสุภาพได้
โทษของการไม่ใส่ชุดนักเรียน
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 กำหนดให้นักเรียนที่ไม่แต่งเครื่องแบบโดยไม่ได้รับการยกเว้นตามระเบียบนี้ สถานศึกษาสามารถพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาตามความเหมาะสม
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ.2548 นั้น กำหนดโทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนที่ประพฤติฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษาหรือของกระทรวงศึกษาธิการ ไว้ 4 สถาน คือ (1) ว่ากล่าวตักเตือน (2) ทำทัณฑ์บน (3) ตัดคะแนนประพฤติ และ (4) ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ซึ่งหากคุณครูหรืออาจารย์เห็นว่าการไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียนนั้นเป็นการฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ คุณครูก็อาจดำเนินการลงโทษตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ 5 คือโทษ 4 สถานนี้เท่านั้น แต่ไม่อาจกระทำการอย่างอื่น เช่น ห้ามมิให้นักเรียนเข้าเรียน ยึดหรือตรวจค้นทรัพย์สินของนักเรียน ตีหรือทำร้ายร่างกาย เพราะการลงโทษนักเรียนนั้นย่อมเป็นการจำกัดสิทธิบางประการ ซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อกฎหมายได้ให้อำนาจไว้ หากบุคคลใดกระทำไปโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ย่อมถือว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและอาจมีความรับผิดตามมาได้
อย่างไรก็ตาม ข้อน่าท้าทายสำหรับกระทรวงศึกษาธิการ คุณครู อาจารย์ และสถานศึกษาคือ การรณรงค์แต่งชุดไปรเวท หรือชุดธรรมดาซึ่งไม่ใช่เครื่องแบบในวันเปิดภาคเรียนที่จะเกิดขึ้นนี้เป็น “การกระทำความผิด” จริงหรือไม่ จำเป็นต้องมี “การลงโทษ” หรือไม่ ในเมื่อการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นไปเพื่อการตั้งคำถามถึงเป้าหมายของการจัดการศึกษา และเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล ซึ่งรวมถึงของนักเรียน มิใช่เป็นการประพฤติชั่วซึ่งต้องสั่งสอนให้สำนึกรู้ในความผิดแต่อย่างใด
ที่มา: www.dailynews.co.th