ดรซาฮิน - ดรตูเรชีกลายเป็นฮีโร่ของมนุษยชาติ คิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19
จากลูกผู้อพยพชาวตุรกี สู่คู่รักมหาเศรษฐีผู้เรียบง่าย แม้ติด 1 ใน 10 มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในเยอรมนี แต่ยังขี่จักรยานไปทำงานทุกวัน และมุ่งมั่นวิจัยรักษามะเร็ง ก่อนกลายเป็นฮีโร่ของมนุษยชาติ คิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำเร็จเป็นเจ้าแรกภายในเวลาไม่ถึงปี
“ผมคิดว่าข้อความที่ดีสำหรับมนุษยชาติก็คือ ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่า การระบาดของโควิด-19 สามารถป้องกันได้จริงด้วยวัคซีน” ดร.อูเกอร์ ซาฮิน นักวิจัยชาวเยอรมันเชื้อสายตุรกี กล่าวหลัง ไฟเซอร์ บริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลก ประกาศข่าวดีที่คนทั่วโลกเฝ้ารอ นั่นคือ ความสำเร็จในการวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19
วัคซีนตัวนี้มาจากห้องทดลองของบริษัทไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ในเมืองไมนซ์ ประเทศเยอรมนี ซึ่งมี ดร.ซาฮิน และภรรยา คือ ดร.โอซเลม ตูเรชี ร่วมกันก่อตั้ง แม้ทั้งคู่จะแบ่งแยกหน้าที่กันทำงานชัดเจน โดยปัจจุบันสามีมีหน้าที่เป็นซีอีโอ ส่วนภรรยารับตำแหน่งหัวหน้าด้านการแพทย์ของบริษัท แต่ทั่วโลกก็ยกย่องให้ทั้งคู่ คือ “ดรีมทีม” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19
#ลูกผู้อพยพชาวตุรกีสู่เศรษฐีนักวิจัย
ดร.ซาฮิน อายุ 55 ปี เกิดที่เมืองอิสเคนเดรัน ประเทศตุรกี เขาย้ายตามพ่อแม่มาอาศัยในเยอรมนี ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เนื่องจากบิดาได้งานทำที่โรงงานรถยนต์ฟอร์ด ในเมืองโคโลญ ความฝันวัยเด็กของหนูน้อยผู้อพยพจากตุรกีรายนี้ คือโตไปเป็นหมอ และเขาก็มุ่งมั่นทำตามฝันนั้นมาตลอด จนกระทั่งเรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเมืองโคโลญจน์ในปี 1993 ด้วยผลงานวิจัยด้านการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดในเซลล์เนื้องอก
ส่วน ดร.ตูเรชี วัย 53 ปี มีเชื้อสายตุรกีเช่นกัน บิดาของเธออพยพมาจากเมืองอิสตันบูล และมีอาชีพเป็นหมอ แม้ในวัยเด็กเธอไม่ได้ใฝ่ฝันอยากเป็นหมอเหมือนสามี แต่เนื่องจากบิดาเปิดคลินิกรักษาคนไข้อยู่ที่บ้าน เธอจึงบอกว่า “ฉันจินตนาการถึงอาชีพอื่นไม่ออกแม้จนโตเป็นวัยรุ่นแล้วก็ตาม”
ดร.ซาฮิน และ ดร.ตูเรชี ได้รับการยกย่องให้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด อาชีพนี้ทำให้ทั้งคู่ได้มาพบเจอกัน และแต่งงานกันในปี 2002 ระหว่างที่ ดร.ซาฮิน ทำงานให้กับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในเมืองไมนซ์ ปัจจุบันทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกัน 1 คน
.
ก่อนเข้าพิธีวิวาห์ 1 ปี ดร.ซาฮินและ ดร.ตูเรชี ร่วมกันเปิดบริษัทสตาร์ท-อัพชื่อ กานีเมด ฟาร์มาซูติคัลส์ โดยใช้ความเชี่ยวชาญที่มีเหมือนกันช่วยกันวิจัยและพัฒนายารักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด แต่ต่อมาในปี 2016 ทั้งคู่ขายบริษัทนี้ไปด้วยมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนบริษัทไบโอเอ็นเทค ที่ค้นพบวัคซีนโควิด-19 ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2008 โดยก่อนการระบาดของโคโรนาไวรัส บริษัทแห่งนี้มุ่งวิจัยเพื่อหาทางรักษาโรคมะเร็งแบบรายบุคคล บนพื้นฐานของระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคน ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถคิดค้นยารักษามะเร็งที่ผ่านการรับรองได้
อย่างไรก็ตาม ไบโอเอ็นเทค ที่เพิ่งนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดแนสแดกของสหรัฐฯ เมื่อปี 2019 ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีมูลค่าทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วสูงกว่า 21,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ ดร.ซาฮิน และ ดร.ตูเรชี กลายเป็นคนรวยติดกลุ่มมหาเศรษฐีในเยอรมนีทันที โดย ดร.ซาฮิน ซึ่งถือหุ้นในไบโอเอ็นเทค 18% กลายเป็นหนึ่งในสิบผู้ที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศ
#ชีวิตเรียบง่าย สนใจแต่วิทยาศาสตร์
แต่ถึงแม้จะมีทรัพย์สินมั่งคั่งเพียงใด ทั้งคู่ยังคงใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะ และถ่อมตัว โดยครอบครัวอาศัยอยู่รวมกันในอะพาร์ตเมนต์พร้อมลูกสาว ไม่ไกลจากห้องวิจัยของบริษัท และ ดร.ซาฮิน ยังคงขี่จักรยานไปทำงานทุกวัน โดยไม่มีรถยนต์ส่วนตัว
“อูเกอร์เป็นคนที่มีเอกลักษณ์ของตนเองมากๆ” อัลเบิร์ต เบาร์ลา ซีอีโอของไฟเซอร์ เล่าถึง ดร.ซาฮิน ที่เป็นเพื่อนสนิท “เขาสนใจแค่เรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การเจรจาธุรกิจไม่ใช่เรื่องที่เขาสนใจ และเขาก็ไม่ชอบมันจริง ๆ เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นคนมีหลักการ และผมก็ไว้ใจเขาร้อยเปอร์เซ็นต์”
ความสนใจของ ดร.ซาฮิน และ ดร.ตูเรชี คือการทำงานวิจัย ทั้งคู่ขึ้นชื่อเรื่องความขยัน หรืออาจถึงขั้นบ้างานก็ว่าได้ โดยชีวิตของทั้งคู่มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่แต่ในห้องวิจัย ถึงขั้นที่ในวันแต่งงาน หลังเสร็จสิ้นพิธีวิวาห์ ทั้งคู่ยังคงเดินทางไปทำงานต่อในวันเดียวกันทันที
#ที่มาค้นพบวัคซีนโควิด
ดร.ซาฮินเล่าถึงความเป็นมาของการค้นพบวัคซีนโควิด-19 ว่า เขาทราบข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส ในเมืองอู่ฮั่น ของจีนครั้งแรกจากวารสารวิทยาศาสตร์ในเดือนมกราคม ปี 2020 จากนั้นจึงตั้งทีมวิจัยวัคซีนขึ้นมา โดยใช้เจ้าหน้าที่ทั้งหมด 500 คน และตั้งชื่อว่า “โปรเจ็กต์ความเร็วแสง” เนื่องจากต้องการพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว ต่างจากวัคซีนทั่วไปที่มักใช้เวลาวิจัยและทดลองกันนาน 7-8 ปี
ไบโอเอ็นเทค บรรลุข้อตกลงร่วมกันพัฒนาวัคซีนโควิด-19 กับไฟเซอร์ ในเดือนมีนาคม 2020 หลังจากทั้งสองบริษัททำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาวัคซีนไข้หวัดมาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2018 โดยการพัฒนาวัคซีนโคโรนาไวรัส เป็นการต่อยอดจากการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งที่กำลังดำเนินอยู่ เน้นการใช้โมเลกุลของเมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ (mRNA) ไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างชิ้นโปรตีนคล้ายโคโรนาไวรัสภายในเซลล์ จากนั้นระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานเพื่อกำจัดชิ้นโปรตีนไวรัสดังกล่าว และสร้างแอนติบอดี้ที่สามารถทำลายเชื้อโควิด-19 ขึ้นมา
ไบโอเอ็นเทค เปิดเผยว่า การทดลองกับอาสาสมัคร 43,539 คน พบว่ามีเพียง 94 รายที่ยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 นั่นเท่ากับว่า วัคซีนตัวนี้ได้ผลมากกว่า 90% โดยการใช้งานต้องฉีด 2 เข็มในระยะเวลาห่างกัน และระบบภูมิคุ้มกันโคโรนาไวรัส จะเริ่มทำงานภายใน 28 วันนับจากวันที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก
“มันอาจถึงเวลาเริ่มต้นของการสิ้นสุดยุคโควิดแล้ว” ดร.ซาฮิน กล่าวถึงความสำเร็จของวัคซีนหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พลเมืองทั่วโลกล้มตายกันไปแล้วกว่า 1.2 ล้านคน ทันทีที่ ดร.ซาฮิน และ ดร.ตูเรชี ทราบรายงานผลการทดลองเมื่อคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ทั้งคู่ฉลองกันอย่างเรียบง่ายด้วยการต้มชาตุรกีดื่มกันที่บ้าน และยอมรับว่ารู้สึกโล่งใจ
จากนี้ไปเป้าหมายของไบโอเอ็นเทค คือการร่วมมือกับไฟเซอร์ ผลิตวัคซีนออกมาอย่างรวดเร็ว โดยตั้งเป้าผลิตให้ได้ถึง 1,300 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2021 ขณะเดียวกัน ดร.ซาฮิน เชื่อว่า วัคซีนของเขาจะไม่ใช่เพียงตัวเดียวที่สามารถสู้กับโควิด-19 เนื่องจากยังมีบริษัทยาอีกหลายค่ายที่กำลังทดลองวัคซีนโควิด-19 ในเฟส 3 กับมนุษย์
แม้การระบาดของโควิด-19 ตลอดปีที่ผ่านมา ให้บทเรียนกับใครหลายคนแตกต่างกันไป แต่สำหรับเรื่องราวความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติจากการค้นพบวัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัสครั้งนี้ บทเรียนที่ได้ คือ ประโยชน์ของระบบทุนนิยมและโลกาภิวัฒน์ เพราะหากไร้ซึ่งการแข่งขัน หรือร่วมมือกันระหว่างบริษัทวิจัยกับบริษัทยา และมีการกีดกันผู้อพยพข้ามชาติ โลกคงไม่สามารถก้าวข้ามกำแพงแห่งการพัฒนาทางการแพทย์ได้อย่างยิ่งใหญ่ และว่องไว เหมือนการค้นพบวัคซีนโควิด-19 ของสองสามีภรรยาชาวเยอรมันเชื้อสายตุรกีคู่นี้
ข้อมูลอ้างอิง:
https://edition.cnn.com/2020/11/10/europe/biontech-pfizer-vaccine-team-couple-intl/index.html
https://www.nytimes.com/2020/11/10/business/biontech-covid-vaccine.html?action=click&module=Top%20Stories&pgtype=Homepage
https://www.bbc.com/news/world-europe-54886883
เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล