หมูปลอมเป็นวัว กรมอนามัยย้ำเตือนสายกินเนื้อต้องระวัง แนะวิธีดูเนื้อวัวแท้ ต้องแดงสด เนื้อแน่น
หมูปลอมเป็นวัว กรมอนามัยย้ำเตือนสายกินเนื้อต้องระวัง แนะวิธีดูเนื้อวัวแท้
หมูปลอมเป็นวัว กรมอนามัยย้ำเตือนสายกินเนื้อต้องระวัง แนะวิธีดูเนื้อวัวแท้ ต้องแดงสด เนื้อแน่น...
- ฮาลาลจุฬาฯ ฟันธง “หมูล้วนๆ เนื้อหลบไป”
- ตะลึง! คาถ้วยก๋วยเตี๋ยว สุ่มตรวจเนื้อวัว เจอ “หมู” หลายย่านชุมชนมุสลิม
- เผยผลตรวจ DNA หมูในตัวอย่างเนื้อ ถึงกับตะลึง!
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนสายกินเนื้อ ระวังเจอเนื้อหมูปลอมเป็นเนื้อวัว แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อวัวแท้ต้องสีแดงสด เนื้อแน่น ลายเส้นไม่หยาบ รวมทั้งเตือนผู้ปลอมแปลงอาหารผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมวด 4 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการที่มี ผู้ลักลอบนำเนื้อหมูปลอมแปลงให้เหมือนเนื้อวัวมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคและมีการประกาศขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีลักษณะเป็นเนื้อแช่แข็ง ส่งไปยังร้านชาบู ร้านขายเนื้อวัวต่างๆ นั้น กรณีดังกล่าว อาจทำให้ผู้บริโภคต้องรู้จักสังเกตวิธีการดูเนื้อวัวแท้ จะมีลักษณะสีแดงสด เนื้อแน่น ลายเส้นไม่หยาบ โดยให้ใช้นิ้วกดดู เนื้อจะยืดหยุ่น ไม่มีรอยบุ๋ม รวมทั้งต้องไม่มีเม็ดสีขาวใสคล้ายเม็ดสาคู เพราะเป็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด
สำหรับเนื้อสัน ควรมีสีแดงสดและมีมัน ปรากฏอยู่เป็นจุดเล็ก ๆ ลักษณะของไขมันแตกง่าย ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวไม่มีเมือก เมื่อวางไว้จะมีน้ำสีแดงออกมา ดังนั้น การเลือกซื้อเนื้อวัวแต่ละครั้ง ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อ หรือสังเกตจากตราประทับบนหนังสัตว์ที่ชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือร้านที่มีใบรับรองของฮาลาล รวมทั้ง ควรสวมถุงมือหรือใช้ที่คีบเนื้อสัตว์ไม่สัมผัสเนื้อสัตว์โดยตรง และเมื่อนำเนื้อสัตว์มาปรุงเป็นอาหารควรทำให้สุกร้อนอย่างทั่วถึง เพื่อความปลอดภัย
“ทั้งนี้ สำหรับบุคคลที่มีการปลอมแปลงอาหาร ถือได้ว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมวด 4 การควบคุมอาหารตามมาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย ซึ่งอาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ตามมาตรา 27 อาหารที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นอาหารปลอม
(1) อาหารที่ได้สับเปลี่ยนใช้วัตถุอื่นแทนบางส่วน หรือคัดแยกวัตถุที่มีคุณค่าออกเสียทั้งหมดหรือบางส่วน และจำหน่ายเป็นอาหารแท้อย่างนั้น หรือใช้ชื่ออาหารแท้นั้น
(2) วัตถุหรืออาหารที่ผลิดขึ้นเทียมอาหารอย่างหนึ่งอย่างใดและจำหน่ายเป็นอาหารแท้อย่างนั้น
(3) อาหารที่ได้ผสมหรือปรุงแต่งด้วยวิธีใดๆ โดยประสงค์จะปกปิดซ่อนเร้นความชำรุดบกพร่องหรือความด้อยคุณภาพของอาหาร” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว
ที่มา: สำนักข่าวไทย