เนื้อหมูขายเป็นเนื้อวัว ที่เป็นข่าวใหญ่ในวันนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมายด้าน
7 ข้อสังเกตแยกเนื้อหมูกับเนื้อวัว
เนื้อหมูกับเนื้อวัวแยกแยะด้วยข้อสังเกต 7 ประการ #เนื้อหมูขายเป็นเนื้อวัว ที่เป็นข่าวใหญ่ในวันนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมายด้าน #การละเมิดสิทธิ์ผู้บริโภค อย่างแน่นอน แต่ยังหวังพึ่งการดำเนินการตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. หรือกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยราชการอื่นได้ยาก คงต้องพึ่งพาผู้บริโภคด้วยกันเองไปก่อน
ปัญหานี้รุนแรงขึ้นในยุคนี้ยุคที่ผู้ค้ากับผู้ซื้อถูกแยกออกจากกันด้วยกลไกทางเทคโนโลยีมีการสั่งสินค้าผ่านออนไลน์มีผู้จัดส่งสินค้าการขายผ่านเขียงหรือตลาดที่ผู้ค้าเป็นมุสลิมมีประสบการณ์อยู่กับเนื้อวัวมานานมักเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากเนื้อวัวกับเนื้อหมูแตกต่างกันพอสมควร
ผู้ค้ามุสลิมที่หลงค้าเนื้อหมูส่วนใหญ่เป็นเพราะเพิ่งเข้ามาในธุรกิจผู้บริโภคมุสลิมกลายเป็นเหยื่อกันมากเพราะประสบการณ์ของผู้ค้าที่ว่านี้
จะดูอย่างไรว่าไหนคือเนื้อวัวไหนเป็นเนื้อหมู มีหลายเว็บไซด์แนะนำกันไว้ ในที่นี้จะขอแนะนำ 7 ประการดังนี้
ประการที่ 1 สังเกตความแตกต่างของสี เนื้อวัวมักสีเข้ม ขณะที่เนื้อหมูสีจางกว่า โดยสีออกไปทางสีน้ำตาลซีด ผู้ค้าที่เจตนาหลอกลวงมักพลางข้อสังเกตนี้โดยใช้เนื้อหมูแก่ หรือเนื้อหมูที่เลี้ยงด้วยสารเร่งเนื้อแดง หรือโดยย้อมด้วยเลือดวัว ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจพบเนื้อหมูย้อมด้วยเลือดวัว 20 จาก 23 ตัวอย่าง การย้อมด้วยเลือดวัวจึงเป็นวิธีปฏิบัติที่นิยมแปลงเนื้อหมูเป็นเนื้อวัวมากที่สุด ลองนำเนื้อประเภทนี้ไปล้างน้ำหลายครั้ง สีของเนื้อหมูจริงจะปรากฏ อีกวิธีหนึ่งคือการต้ม เนื้อหมูต้มแล้วสีซีดลงเห็นได้ชัด การดูสีนี้น่าแปลกที่ผู้บริโภคมุสลิมซื้อเนื้อหมูต้มทั้งที่เห็นว่าสีซีด แต่เป็นเพราะไว้วางใจผู้ค้าจึงซื้อกันมา
ประการที่ 2 สังเกตจากใยของเนื้อ (Fiber) โดยเนื้อวัวจะเห็นใยเนื้อเป็นริ้วตามแนวยาวขณะที่เนื้อหมูจะมีริ้วน้อยเนื้อเรียบคล้ายเนื้อไก่สังเกตให้ดีจะเห็น
ประการที่ 3 ดูจากไขมัน โดยไขมันหมูจะชุ่มและแยกยากจากเนื้อ ขณะที่ไขมันวัวจะแข็งกระด้างกว่า แยกออกง่ายจากเนื้อ
ประการที่ 4 เนื้อสัมผัส (Texture) เนื้อหมูดึงให้เป็นแผ่นง่าย เนื้อวัวดึงได้ยากกว่าเนื่องจากเหนียวกว่า เรื่องนี้เกิดกรณีครูที่มิใช่มุสลิมกินอาหารร่วมกับนักเรียนมุสลิมในโรงเรียนมุสลิมแล้วสังเกตุว่าเนื้อนุ่มลิ้นผิดปกติ จึงแจ้งให้ผู้ทำอาหารที่เป็นมุสลิมทราบ กระทั่งส่งเนื้อมาตรวจจึงพบว่าเป็นเนื้อหมู ผู้ที่เคยบริโภคเนื้อทั้งสองชนิดมาแล้วจึงพอสังเกตรสและเนื้อสัมผัสได้
ประการที่ 5 คือกลิ่น เนื้อวัวมีกลิ่นคาวของเนื้อขณะที่เนื้อหมูมีกลิ่นสาปของแอมโมเนียและสารเคมีบางตัวเป็นกลิ่นสาปที่ผู้บริโภคมุสลิมไม่ชินเรื่องกลิ่นนี้อาจเป็นผลให้เกิดการพลางเนื้อหมูด้วยเลือดวัวเพื่อปรับสีและแต่งกลิ่น
ประการที่ 6 คือเรื่องราคา แต่ยังยากเนื่องจากผู้ค้าที่ตั้งใจหลอกลวงมักปรับราคาถูกของเนื้อหมูให้แพงขึ้นใกล้เคียงกับเนื้อวัว
ประการที่ 7 คือเลือกซื้อ เนื้อที่ผู้ค้ามีใบรับรองจากกรมปศุสัตว์และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และหรือสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
เรื่องเนื้อหมูปลอมเป็นเนื้อวัว ผู้บริโภคจำเป็นต้องตื่นตัวเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเอง ฝ่ายราชการต้องลงไปจัดการ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังทำลายเศรษฐกิจด้านความไว้วางใจ (#Trust economy) คิดจะฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจหลังยุคโควิด-19 เรื่องเศรษฐกิจด้านความไว้วางใจคือเรื่องใหญ่ที่สุด
ข้อมูล รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย