เจ้าหน้าที่ทางหลวงชนบทนำเสาไฟฟ้าไปลงทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา แต่ไม่ยอมติดตั้งให้ชาวบ้าน
5 ส.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีชาวบ้านจากหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ประมาณ 200 คน นำโดยนายอำหรน องศารา อายุ 50 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 ต.ปากน้ำ อ.ละงู ได้รวมตัวชุมนุมประท้วงปิดถนนทางเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา บ้านอ่าวนุ่นหมู่ที่ 4 ต.ปากน้ำ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นประมงพื้นบ้าน ซึ่งเคยนำเรือไปจอดบริเวณชายฝั่งหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติเภตรา และบริเวณใกล้เคียง ได้ร้องขอให้มีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้าน ที่นำเรือเข้า-ออกชายฝั่ง
แต่เมื่อทางเจ้าหน้าที่ทางหลวงชนบทนำเสาไฟฟ้าไปลงทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา แต่ไม่ยอมติดตั้งให้ชาวบ้าน จึงรวมตัวประท้วงโดยการนำเรือขึ้นมาขวางทางเข้าอุทยานฯ เภตรา ต่อมาหัวหน้าอุทยานฯ จึงยอมให้ติดตั้งเสาไฟฟ้าได้ หลังจากนั้นชาวบ้านได้นำเรือออก
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเรียกร้องขอให้สามารถจอดเรือบริเวณชายฝั่งหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติเภตราและบริเวณใกล้เคียง เพราะเคยจอดมานานแล้ว แต่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ห้ามไม่ให้ชาวบ้านจอดเรือบริเวณดังกล่าว และยังมีการสั่งห้ามนำเบ็ดตกปลาเข้าในเขตอุทยานฯ ซึ่งเป็นเครื่องมือหากิน โดยอ้างว่าไม่เหมาะสม ทั้งที่ก่อนหน้านี้วิถีชีวิตชาวบ้านก็อยู่แบบนี้มาอย่างยาวนาน ก่อนมีการตั้งอุทยานฯ รวมทั้งสั่งห้ามหาหอยชายหาด และคำสั่งห้ามอีกมากมายจนชาวบ้านทนไม่ไหว จึงเดินทางมาขอพบหัวหน้าอุทยานฯ
ต่อมานายวิทยา บัวพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ได้พบชาวบ้านและร่วมประชุมหาข้อยุติที่ศาลากลางน้ำในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา โดยทางนายวิทยา บัวพล ได้กล่าวขอโทษชาวบ้านที่มีการสื่อสารกับชาวบ้านผิด พร้อมยกมือขอโทษและขอรับผิดเพียงผู้เดียว ส่วนการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างสามารถดำเนินการได้เลย ในขณะที่การนำเรือเข้าจอดบริเวณชายฝั่งที่ทำการอุทยานฯ หมู่เกาะเภตราก็สามารถจอดได้ แต่ขอร้องให้เก็บเครื่องมือตกปลาให้มิดชิด เพราะกลัวนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางผ่านไปมา เข้าใจผิดว่าจับปลาในเขตอุทยานฯ
จากนั้นผู้นำชาวบ้านได้กล่าวกับทางเจ้าหน้าที่ว่า การได้สิทธิถือกฎหมายในมือไม่ใช่ใช้แต่อำนาจ จนหลงลืมดูวิถีชีวิตคนในหมู่บ้านรอบอุทยานฯ ว่าเขาเป็นอยู่กันอย่างไร ไม่เคยลงมาพูดคุยหรือสอบถามเพื่อหาความร่วมมือ ทั้งนี้ ได้มีการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการชุดแก้ไขปัญหาระดับหมู่บ้านเพื่อร่วมกันพูดคุย หารือปัญหาต่าง ๆ และสื่อสารโดยตรงถึงชาวบ้าน