นพยง ภู่วรวรรณ เปิดรายชื่อยาต้านไวรัสที่ยืมจากโรคอื่นเพื่อใช้รักษา COVID-19
นพ.ยง ภู่วรวรรณ เปิดรายชื่อยาต้านไวรัสที่ยืมจากโรคอื่นเพื่อใช้รักษา COVID-19 รวมถึงการใช้พลาสมาจากผู้ป่วยหายแล้ว ชี้ทั่วโลกยังเร่งศึกษาและรอผลที่ชัดเจน
วันนี้ (28 เม.ย.2563) นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า COVID-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ไวรัสนี้จึงยังไม่มียารักษาจำเพาะ ยาที่ใช้รักษาจึงยืมยาจากโรคอื่นมาใช้ เช่น
Chloroquine/Hydroxychloroquine
หวังไปทำให้ผนังเซลล์แข็งแรง ป้องกันการถอดร่างไวรัสในเซลล์ ผลการรักษายังไม่เป็นที่แน่ชัดหรือยืนยันว่าได้ผล จากการศึกษาที่ชัดเจน
ยาต้าน HIV
สูตรผสม Lopinavir/Ritonavir ถูกนำมาใช้รักษาโรค COVID-19 เพราะลักษณะเอนไซม์ Protease ของไวรัส COVID-19 กับ HIV มีส่วนคล้ายกัน จึงมีการนำมาใช้การศึกษาเปรียบเทียบให้กับไม่ให้ในผู้ป่วย COVID-19 ที่รุนแรง ผลไม่แตกต่างกัน หรือกล่าวว่า COVID-19 เป็นรุนแรงแล้ว ยา 2 ตัวนี้ไม่ช่วย แต่ในรายที่ไม่รุนแรง คงต้องรอผลการศึกษา ยานี้มีอาการข้างเคียงค่อนข้างมาก
Favipiravir
ในบ้านเราได้นำเข้ามา ยานี้ญี่ปุ่นคิดขึ้นมาเพื่อรักษาไข้หวัดใหญ่และต่อมาพบว่ามีฤทธิ์กว้าง ขัดขวางการสร้าง RNA ไวรัสชนิดอื่นๆ ด้วย เคยมีการนำมาใช้ใน Ebola แต่ผลก็ไม่ได้เป็นดังเป้าหมาย
ขณะนี้ก็ได้นำมานี้มาใช้ในการรักษา COVID-19 กันมาก และรอผลการศึกษาที่เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ถึงประสิทธิผลในการศึกษาวิจัยที่จะมีการเผยแพร่ ประเทศไทยได้มีการนำมาใช้ในผู้ป่วยอาการรุนแรงที่มีปอดบวม
Remdesivir
เป็นยาที่คิดค้นใหม่ ยังไม่ผ่านการรับรองของ อย.ในชาติใด จึงเป็นยาที่อยู่ระหว่างการวิจัยในระยะ 3 และเคยพยายามศึกษากับไวรัส MERS ยานี้ได้ถูกนำมาใช้ศึกษาในโรค COVID-19 ในผู้ป่วยรายแรกของสหรัฐอเมริกาและมีการศึกษาเป็นจำนวนมาก ในขณะนี้มากกว่า 100 โครงการคงจะทราบผลเร็วๆ นี้
แต่มีข่าวออกมาจากสหรัฐฯ ว่าได้ผลดี ทำให้หุ้นในสหรัฐฯ ขึ้นมาได้และหลังจากการนั้นทางบริษัทก็ออกมาปฏิเสธข่าว คงต้องรอผลสรุปอย่างเป็นทางการถึงผลการรักษาและรอขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาก่อน ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย
พลาสมาของคนที่หายป่วย
ได้มีการศึกษาในจีน เกาหลี มีมากกว่า 5 รายงานการศึกษา ในคนไข้ขณะนี้ที่รายงานเกือบ 30 คน ในรายงานจะบอกได้ผลดี เชื่อว่ามีการให้มากกว่ารายงานและรายงานส่วนมากจะรายงานโดยสรุป
ขณะนี้มีการศึกษากันทั่วโลกเกือบทุกประเทศ ประเทศไทยขณะนี้ก็มีโครงการนี้อยู่โดยขอบริจาคพลาสมาจากผู้ที่หายป่วยแล้ว
“การรักษาโรค COVID-19 ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปและแนวทางการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่จำเพาะและได้ผลอย่างชัดเจน”