สาธิตวิธีการ "ขากเสมหะ" จากลำคอ เพื่อตรวจคัดกรองหาโรค COVID-19
สาธิตวิธีการ "ขากเสมหะ" จากลำคอ เพื่อตรวจคัดกรองหาโรค COVID-19 ซึ่งตัวอย่างน้ำลายที่สามารถตรวจได้ดี ผู้ป่วยควรบ้วนในช่วงที่ตื่นนอนตอนเช้า หรือ ควรงดอาหาร เครื่องดื่มก่อนตรวจ 1 ถึง 2 ชั่วโมง
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร ร่วมแถลงการเตรียมความพร้อมในการใช้วิธีตรวจน้ำลาย เพื่อหาเชื้อ COVID19 ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ผลรวดเร็ว และเชื่อถือได้
อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การตรวจด้วยน้ำลาย มีข้อดี คือ เก็บตัวอย่างง่ายกว่าการเก็บตัวอย่างจากสารคัดหลั่งของจมูก และคอ, ไม่ต้องใช้ชุด PPE, มีราคาถูก และมีความรวดเร็ว
“การเก็บตัวอย่างน้ำลาย จะใช้ในกลุ่มความเสี่ยง ทั้งบุคคลกรทางแพทย์ ผู้ที่สัมผัสผู้ป่วย รวมไปถึงกลุ่มที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่างเชิงรุก และที่สำคัญสามารถใช้เก็บตัวอย่างน้ำลายในกลุ่มคน ที่เดินทางจากต่างประเทศ เพราะในกลุ่มนี้ มีคนจำนวนมาก ซึ่งวิธีนี้ใช้เวลาน้อยมาก”
สำหรับเกณฑ์ผู้ที่จะเข้าตรวจได้ หากเป็นคนกลุ่มเสี่ยงโดยตรง จะไม่มีค่าใช้จ่ายในการตรวจ แต่หากผู้ไม่เข้าเกณฑ์ แต่รู้สึกกังวล เช่น มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย ก็สามารถตรวจได้เช่นกัน โดยขณะนี้ เริ่มใช้วิธีนี้ในการเก็บตัวอย่างแล้วไปบ้างแล้ว และมั่นใจว่า มีห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ มีเพียงพอรองรับการตรวจ
ขณะที่อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายขั้นตอนการเก็บตัวอย่างว่า วิธีการเก็บตัวอย่างน้ำลายได้ผลดี สามารถตรวจจับเชื้อได้ โดยจะมีถุงซิบ เพื่อเก็บตัวอย่าง โดยคนที่จะเข้าตรวจต้อง “ขากเสมหะ” ออกจากลำคอ ใส่ในถุงตัวอย่าง และนำตัวอย่างเข้าไปตรวจในห้องปฏิบัติการ วิธีนี้คล้ายคลึงกับการตรวจหาเชื้อวัณโรค โดยมีความปลอดภัย ไม่สัมผัสตัวผู้ป่วย พร้อมยืนยันว่า วิธีนี้มีความแม่นยำถึงร้อยละ 90 แต่ทั้งนี้ ต้องใช้ควบคู่ไปกับการวินิจฉัยโรค
ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร เชื่อว่า วิธีนี้จะช่วยลดต้นทุนต่ำค่าใช้ในจ่ายในการตรวจ ซึ่งผู้ป่วยสามารถบ้วนน้ำลาย และส่งตรวจได้ด้วยตัวเอง