มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ด้วยการเปิดรับลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน
มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ด้วยการเปิดรับลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของรัฐผ่านระบบออนไลน์ แต่การเปิดรับลงทะเบียนในครั้งนี้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล หรือ Digital Divide ในประเทศไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
แม้ว่าการเปิดช่องทางออนไลน์ดังกล่าวนี้จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในช่วงเวลาแบบนี้ในนัยหนึ่ง และเป็นการแสดงศักยภาพของรัฐในการจัดการสวัสดิการผ่านระบบ E-Government แต่การที่รัฐเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิโดยผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลักนั่นแปลว่า ประชาชนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้นต้องถูกจำกัดสิทธิไปโดยปริยาย
ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลอีกหนึ่งประเด็นที่รัฐมองข้ามไปคือ ประเด็นเรื่องทักษะและความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี (Digital Literacy and Readiness) นี่เป็นชุดปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้ร่มของประเด็นความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลดังที่กล่าวไปข้างต้น กล่าวคือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะมีมันอยู่ในมือแล้วก็ตาม
เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน แถลงว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้แก้กฎกระทรวงการได้รับผลประโยชน์ทดเเทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย โดยให้ครอบคลุมถึงกรณีโรคระบาดเเละให้มีผลใช้บังคับตั้งเเต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 31 สิงหาคม 2563
มาตรการเยียวยานี้มุ่งเป้าไปที่แรงงาน ลูกจ้าง และอาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่รัฐประกาศมาตรการจัดการกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสระยะที่ 2 ทั้งนี้ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เเละ 40 สามารถยื่นคำขอรับเงินทดเเทนได้จากกระทรวงการคลัง 5,000 บาทต่อรายต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิได้ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต
จริงอยู่ที่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของรัฐผ่านระบบออนไลน์ แต่การเปิดรับลงทะเบียนในครั้งนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลหรือ Digital Divide ในประเทศไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลเป็นประเด็นทางเทคโนโลยีและสังคมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายยุค 90 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกตะวันตกเริ่มมีอินเทอร์เน็ตใช้แพร่หลายขึ้น โดยพื้นฐานของประเด็นกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ที่มีและไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ (The Haves and The Have Nots)
อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลนี้ได้ถูกขยายออกไปให้ครอบคลุมไปถึงปัจจัยเช่น อายุ ระดับการศึกษา ความพิการ และนโยบายรัฐ ในปี 2011 เมื่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ได้มีการกล่าวถึงบทบาทของอินเทอร์เน็ตในการสร้างเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของปัจเจก ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และยังมีการผลักดันให้ประเทศสมาชิกปกป้องสิทธิดังกล่าวของประชาชนอีกด้วย
สถิติล่าสุดเกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ซึ่ง HootSuite จัดทำร่วมกับ We are Social นั้น รายงานว่า ประชากรไทยราว 52 ล้านคน เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต นับเป็นอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตประมาณ 75% ของประชากร
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวนี้ไม่ได้แสดงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ประชากรที่อาศัยในเมืองของประเทศไทยมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด ดังนั้น ถ้าคิดกันจริงๆ สัดส่วนของประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบทและมีความสามารถที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคงมีเพียงแค่ 25% เท่านั้น
แล้วมาตรการการเยียวยาสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 นี้เกี่ยวอะไรกับเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
แม้ว่าการเปิดช่องทางออนไลน์ดังกล่าวนี้จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในช่วงเวลาแบบนี้ในนัยหนึ่ง และเป็นการแสดงศักยภาพของรัฐในการจัดการสวัสดิการผ่านระบบ E-Government (เราจะไม่พูดถึงการที่ระบบล่มตั้งแต่ไม่ถึงนาทีแรกของการเปิดให้ลงทะเบียนก็แล้วกัน) แต่การที่รัฐเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิโดยผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลักนั่นแปลว่า ประชาชนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้นต้องถูกจำกัดสิทธิไปโดยปริยาย
ข้อโต้แย้งหนึ่งที่อาจนำมาใช้สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลได้ก็คือ เรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในรายงานสถิติที่กล่าวถึงข้างต้นได้บอกอีกว่า คนไทยมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือถึง 134% ของประชากร นั่นแปลว่า บางคนก็มีโทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 เครื่อง!
อย่างไรก็ตาม หากเราดูที่กลุ่มเป้าหมายของมาตรการเยียวยานี้ ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานนอกระบบและผู้ประกอบอาชีพอิสระ การอนุมานว่าทุกคนจะมีสมาร์ทโฟนที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และนำมาใช้ลงทะเบียนรับเงินสนับสนุนจากรัฐได้นั้นเป็นการคิดที่ตื้นเขินและมองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างไปโดยสิ้นเชิง แม้ว่ารัฐจะอนุญาตให้ลงทะเบียนได้ 5 สิทธิต่อ 1 เบอร์มือถือก็ตาม
ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลอีกหนึ่งประเด็นที่รัฐมองข้ามไปคือ ประเด็นเรื่องทักษะและความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี (Digital Literacy and Readiness) ซึ่งเป็นผลพวงมาจากหลายปัจจัย เช่น ความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ ระดับการศึกษาหรือแม้แต่ช่วงอายุ เป็นต้น
นี่เป็นชุดปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้ร่มของประเด็นความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลดังที่กล่าวไปข้างต้น กล่าวคือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะมีมันอยู่ในมือแล้วก็ตาม
เราอาจมองเห็นปัญหานี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น หากเรานึกถึงสังคมชนบทซึ่งอยู่นอกบริบทสังคมเมืองที่เราคุ้นเคย
สุดท้าย การที่รัฐใช้วิธีโอนเงินเยียวยานี้ผ่านช่องทางพร้อมเพย์และ Mobile Banking เป็นหลัก ก็พาเราวนกลับเข้าลูปเดิมของ Digital Divide อีกครั้ง เพราะการที่ประชาชนจะลงทะเบียนผูกบัญชีธนาคารเข้ากับบัญชีพร้อมเพย์หรือแอปพลิเคชัน Mobile Banking อื่นๆ เขาจำเป็นจะต้องมีโทรศัพท์มือถือและต้องเป็นสมาร์ทโฟนด้วย!
คราวนี้รัฐไม่สามารถเปิดโอกาสให้ประชาชนหยิบยืมโทรศัพท์แม่หรือโทรศัพท์เพื่อนมาลงทะเบียนได้อีกแล้ว เพราะแต่ละบัญชีธนาคารจะต้องผูกกับเบอร์มือถือเบอร์เดียว ดังนั้น หากใครไม่มีพร้อมเพย์หรือช่องทาง Mobile Banking อื่น ก็มีความจำเป็นจะต้องเดินทางไปธนาคารเพื่อรับเงินอุดหนุนดังกล่าว ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคเข้าไปอีก
จาก 3 ปัญหาที่เชื่อมโยงกับการใช้มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เราเห็นถึงหลักฐานด้านความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ ที่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับมหภาค ที่รัฐควรหันมาให้ความสนใจและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
ที่มา: ดร.สุรัชนี ศรีใย