ประกันสังคมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนกรณีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานคณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยกับสื่อมวลชน กรณีคณะกรรมการประกันสังคมมีมติวันที่ 20 มีนาคม 2563 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนกรณีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนี้
1.ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยให้ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนจากภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ รวมทั้งภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยให้
–ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
–กรณีหน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน
2.เห็นชอบให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอัตราร้อยละ 4 เป็นระยะเวลา 6 เดือน พร้อมทั้งยังเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33,39 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม 2563 ออกไปอีก 3 เดือน โดยงวดค่าจ้างเดือนมีนาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15กรกฎาคม 2563 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนเมษายน 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 สิงหาคม 2563 และงวดค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 กันยายน 2563
3.ในเรื่องการรักษาพยาบาล คณะกรรมการฯ มีมติให้ดูแลรักษาผู้ประกันตน ที่ป่วยจากไวรัสโควิด-19 ให้ดีที่สุดตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่กำหนด
นอกจากนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ว่าในทางเศรษฐกิจหรือผลกระทบจากปัจจัยอื่นใด คณะกรรมการยังมีมติเห็นชอบให้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นแก่ผู้ประกันตนที่ว่างงานจากกรณีลาออก ร้อยละ 45 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน และจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนที่ว่างงาน จากกรณีเลิกจ้าง ร้อยละ 70 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน ทั้งนี้ มาตรการนี้ให้ใช้บังคับเป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากนี้คณะกรรมการจะพิจารณาวิเคราะห์และมีมติพิจารณาอีกครั้ง
นายสุทธิ กล่าวต่อว่า ตนได้เร่งรัดให้มีผลบังคับโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของภาครัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนต่อไป