จากสถิติจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
จากสถิติจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทยที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งออกมาตรการป้องกันไม่ให้การแพร่กระจายของเชื้อขยายวงกว้างออกไปมากกว่านี้
จึงมีการออกมาตรการปิดพื้นที่เสี่ยงที่ปกติมีผู้คนไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ๆ บางจังหวัด เหลือเพียงแค่ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า ที่ขายสิ่งของจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ร้านอาหารตามสั่ง แต่ให้ขายเฉพาะการซื้อกลับบ้าน (Take Home) เท่านั้น พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ลดการเดินทาง และเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในการปฏิสัมพันธ์กัน
แต่ดูเหมือนว่ามาตรการต่างๆ ดังกล่าวยังไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างเคร่งครัดนัก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในแวดวงสาธารณสุขไปจนถึงด้านสถิติต่างมีความกังวลเพิ่มขึ้นว่าหากยังเป็นเช่นนี้อยู่ สุ่มเสี่ยงมากที่จะเกิดอาการ "เอาไม่อยู่" จนทำให้ตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวด
ในขณะที่ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวย้ำในระหว่างที่กระทรวงแถลงสถานการณ์ประจำวันว่า หลังจากจำนวนผู้ป่วยผู้ติดเชื้อของไทยขึ้นมาอยู่ในหลักหลายร้อยแล้ว หลังจากนี้จะถึงจุดเปลี่ยนเป็นหลักพัน ถือว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ตรงทาง 2 แพร่ง จากตัวเลขผู้ติดเชื้อ ณ วันนี้ (23 มี.ค.) กระโดดไปที่ 721 รายแล้ว ตอนนี้จึงเป็น "เวลาทอง" หรือ “Gloden Period” ที่เราจะเลือกว่า ยอดผู้ติดเชื้อจะพุ่งต่อ หรือฉีกออกไปแบบญี่ปุ่นและเกาหลี รวมถึงจีนที่มีสถิติลดลง
“ปกติเมื่อยอดผู้ติดเชื้อกระโดดขึ้นเป็นหลักร้อยแล้ว จะพุ่งเป็นหลักพันหลักหมื่น และอีกไม่นานเราจะพุ่งเป็นหลักพันต่อวัน แต่ ณ วันนี้เราอยู่ที่ 721 ราย ยังเป็นตัวเลขที่พี่น้องประชาชนทุกคนจะช่วยกันได้ เลือกได้ว่าจะให้ยอดผู้ติดเชื้อของไทยพุ่งไม่หยุดจนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว หรือปรับลดลง”