การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกอาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ
เว็บไซต์ ดิ อินดิเพนเดนต์ ได้นำเสนอบทความที่ชี้ว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกอาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเป็นเท่าทวีคูณ เมื่อเทียบกับผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชนทั่วไป
หากไวรัสจะสร้างผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของเรา มันก็อาจเกิดขึ้นในลักษณะต่างๆ เช่น ทำให้เราไม่สามารถไปทำงานได้ นายจ้างอาจเลิกจ้าง หรืออาจทำให้ธุรกิจต้องล้มละลาย
ข่าวตลาดการเงินทั่วโลกต้องสูญเงินไปนับหลายล้านล้านดอลลาร์ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น หากรัฐบาลของแต่ละประเทศไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ และหากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ยังคงไม่สามารถจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ได้ มันก็อาจทำให้เขาไม่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้นำประเทศเป็นสมัยที่สอง ด้านนายโจ ไบเดน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต เคยกล่าวว่า โควิด-19 คือจุดอ่อนของทรัมป์ และให้คำมั่นที่แสดงความเป็นผู้นำที่มีความมั่นคงและมั่นใจ ในช่วงเวลาที่อเมริกาต้องการทั้งสองสิ่งนี้อย่างมาก
ปัจจุบันมีผู้คนทั่วโลกที่ต้องสูญเสียชีวิตจากโควิด-19 ไปแล้วกว่า 4,912 คน และยิ่งไปกว่านั้นคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับผู้คนอีกหลายล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ที่การระบาดได้ก่อให้เกิดพายุลูกใหญ่ที่ถล่มตลาดหุ้นทั่วโลกจนราบคาบ ก่อให้เกิดสงครามน้ำมันระหว่างรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย และอาจนำไปสู่วิกฤตการอพยพครั้งใหญ่ของผู้คน เช่นเดียวกับสงครามในซีเรีย
เราอาจมองได้ว่า โควิด-19 คือช่วงเวลาที่เส้นด้ายที่มัดร้อยเศรษฐกิจโลกเข้าไว้ด้วยกัน ได้ขาดลงไปแล้ว ขณะที่บริษัทสตาร์ทอัปหรือธุรกิจที่กำลังเติบโต อาจต้องพบกับความสูญเสียเป็นมูลค่ามหาศาล
สิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการต่อสู้กับไวรัสก็คือ การฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยยับยั้งความตื่นตระหนกที่กำลังเกิดการระบาดครั้งใหญ่ ความทุกข์ทรมานของมนุษย์อาจมาในรูปแบบของความเจ็บป่วยและความตาย แต่อาจจะเทียบไม่ได้กับการที่เราไม่มีเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือการต้องสูญเสียบ้านเพราะไม่มีเงินผ่อน
เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดเล็กที่อาจประสบปัญหา เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานที่หายไป ทำให้ไม่มีวัตถุดิบหรือสินค้า ส่วนการปิดโรงงานหลายแห่งในจีน ทำให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ โดยจีนถือเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และมีการผลิตคิดเป็น 1 ใน 3 ของภาคการผลิตทั่วโลก ดังนั้น ปัญหาของจีน ก็คือปัญหาของทั่วโลก แม้จะเกิดขึ้นท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็ตาม
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ยิ่งก่อให้เกิดความวิตกมากขึ้น เพราะรัฐบาลหลายประเทศมองว่านี่เป็นเพียงวิกฤตด้านสุขภาพอนามัย ไม่ใช่วิกฤตทางเศรษฐกิจ และในครั้งนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ได้ออกมาเคลื่อนไหว ก่อนที่ภัยทางเศรษฐกิจของจริงจะระบาดไปทั่วโลก
นอกจากนั้น ยังเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก และอยู่กำลังอยู่ในช่วงของการปิดประเทศ จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย และสร้างผลกระทบต่อทั้งยุโรป และพันธมิตรทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดอย่างสหรัฐฯ และเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศเหล่านี้จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย หากรัฐบาลยังไม่เร่งดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างจริงจัง มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินโลกเมื่อ 12 ปีก่อน
เดิมพันครั้งนี้ดูเหมือนจะสูงกว่าครั้งก่อน เพราะครั้งนี้ชาติตะวันตกอาจต้องเผชิญผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากนโยบายทางการค้าที่แข็งกร้าวของผู้นำสหรัฐฯ และแม้จีนจะต้องแบกรับภาระทางเศรษฐกิจและการดูแลประชาชนที่เกิดจากการระบาดของไวรัส แต่ดูเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนจะมองเห็นข้อดีของการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังชะลอตัว และสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าของทรัมป์ ที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นอกจากนั้น การระบาดของไวรัสยังเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับสงครามน้ำมันระหว่างรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย โดยในระยะสั้น ทั้งรัฐบาลรัสเซียและซาอุฯ สามารถรับมือกับราคาน้ำมันที่ลดลงกว่าร้อยละ 30 ในชั่วข้ามคืนได้ ขณะที่บริษัทน้ำมันในสหรัฐฯ ทำไม่ได้ เพราะยิ่งระบบการผลิตปิโตรเลียมด้วยวิธีการ “แฟรกกิ้ง” (Fracking) มีค่าใช้จ่ายสูงเท่าไหร่ นั่นหมายความว่า ภาคการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ ก็จะอยู่ไม่ได้ หากราคาน้ำมันยังลดลงต่ำลงเรื่อยๆ เป็นประวัติการณ์เช่นนี้ ที่นำไปสู่การชัตดาวน์ทางเศรษฐกิจ ภาวะตกงาน และอาจนำไปสู่ภาวะการถดถอยในระดับประเทศ
ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ผลักดันผ่านการลดภาษีรายได้ที่ค้างชำระ และช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับรายเป็นรายชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ส่วนในสหราชอาณาจักร นายริชี ซูนัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอ “งบประมาณโคโรนาไวรัส” ต่อสภาผู้แทนราษฎร
ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นมากกว่าการระบาดของไวรัส ทั้งราคาน้ำมัน หรือแม้แต่เศรษฐกิจโลก นี่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของดุลแห่งอำนาจระหว่างชาติตะวันตกและตะวันออก ซึ่งจุดที่เคยเป็นศูนย์กลางของดุลอำนาจของทั้งสองฝ่ายก็คือซีเรีย ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งนานถึง 10 ปี ซึ่งปัจจุบันได้ยกระดับจาก “สงครามตัวแทน” มาเป็น “ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ”
ด้านรัสเซียและจีน และออีกหลายชาติต่างเห็นตรงกันว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในซีเรียแทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ และตอนนี้พวกเขากำลังพยายามที่จะประสานวิสัยทัศน์ในโลกที่มีหลายขั้วอย่างแท้จริง และแทนที่จะปล่อยให้ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างซาอุดิอาระเบีย เป็นผู้นำตลาดน้ำมันผ่านกลุ่มพันธมิตรโอเปค รัสเซียและจีนต้องการที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าตลาดโลกและสมดุลทางอำนาจเสียใหม่ เพื่อให้ตนได้รับประโยชน์
เพื่อให้รอดพ้นจากความพยายามเหล่านั้น สหรัฐฯ และอังกฤษ รวมถึงชาติต่างๆ จำเป็นจะต้องปกป้องอนาคตของธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในประเทศเสียก่อน และแสวงหาโอกาสในการได้รับประโยชน์จากระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ (The New International Economic Order) และไม่ปฏิเสธมัน เพราะการเพิกเฉยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจจะยิ่งสร้างความเสียหายยิงกว่าการระบาดทั่วโลกของโควิด-19
ที่มา WorkpointNews