คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนรัฐบาลไทย ออกใบแถลงข่าว
วันที่ 21 มกราคม 2563 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนรัฐบาลไทย ออกใบแถลงข่าวเกี่ยวกับการพบปะพูดคุยกับคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็น โดยระบุว่า คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงการต่างประเทศ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาคที่ 4 ได้พบปะพูดคุยกับคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็น นำโดยนายอานัส อับดุลเราะมาน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ม.ค. มีตันสรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ จากรัฐบาลมาเลเซีย ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก
“การพูดคุยครั้งนี้เป็นเจตจำนงร่วมกันที่ต้องการแก้ไขปัญหาและสร้างสันติสุขในพื้นทีจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี โดยได้ออกแบบกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจนเป็นที่ยอมรับร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายได้ใช้เวลาในการทำความรู้จักและรับทราบกรอบแนวทางการทำงานร่วมกันในระยะต่อไป รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในห้วงต่อไปมีความก้าวหน้าและต่อเนื่อง โดยบรรยากาศของการพูดคุยเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์และทั้งสองฝ่ายมีท่าทีที่ดีในการร่วมมือกันต่อไป”
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า การพูดคุยครั้งนี้เป็นไปตามที่เคยประสานกันไว้ก่อนหน้านี้ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยสำนักข่าวอิศราอ้างคำกล่าวของแหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคงมาเลเซียว่า คณะผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ฝ่ายไทย เป็นอดีตครูโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอดีตครูใหญ่ชื่อว่า นายสะแปอิง บาซอ ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่า นายสะแปอิง คือผู้นำทางจิตวิญญาณของกลุ่มบีอาร์เอ็น นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็นและน่าจะมีตัวแทนกลุ่มมาราปาตานี เข้าร่วมด้วย
สำนักข่าวอิศรา รายงานด้วยว่า ขณะเดียวกัน มีกระแสข่าวว่า ทางการมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย ไม่ค่อยสบายใจที่ฝ่ายไทยดึงองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับการพูดคุยเจรจาสันติภาพ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในช่วงก่อนหน้านี้ และมีการจัดพูดคุยนอกรอบในยุโรปและอินโดนีเซีย แต่ล่าสุด ฝ่ายไทยได้ให้คำมั่นว่าจะไม่มีองค์กรใดมาแทนที่มาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกอย่างแน่นอน
สอดคล้องกับรายงานของเพจ Patani NOTES ที่ระบุว่า บีอาร์เอ็น “ฮาร์ดคอร์” (บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต) ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ไทยที่เยอรมนี โดยมีองค์กรเอ็นจีโอของยุโรปเป็นผู้ติดต่อประสานงาน ถือว่าเป็นช่องทางการติดต่อพูดคุยที่ไม่เป็นทางการ อันเป็นความประสงค์ของทางการไทยที่ต้องการคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นที่มักเรียกกันว่า บีอาร์เอ็น “ฮาร์ดคอร์” เพื่อให้เห็นความแตกต่างกับบีอาร์เอ็นที่อยู่ในกลุ่มมาราปาตานี
Patani NOTES รายงานว่า มาเลเซียนั้นทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการให้มีการพบปะพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มขบวนการในสามจังหวัดภาคใต้ โดยที่ผ่านมามีกลุ่มมาราปาตานีที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ โดยมีบีอาร์เอ็นร่วมอยู่เป็นหนึ่งในนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ทางการไทยได้พยายามให้มาเลเซียดึงเอากลุ่มบีอาร์เอ็น “ฮาร์ดคอร์” เข้าร่วมโต๊ะพูดคุย ซึ่งกลุ่มนี้ก็เคยแสดงความสนใจมาแล้วเพียง แต่ไม่ต้องการร่วมในวงเดียวกันกับมาราปาตานี อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบ่งบอกว่า มาเลเซียไม่สามารถนำกลุ่มบีอาร์เอ็นฮาร์ดคอร์ที่ว่านี้เข้ามาพูดคุยกับไทยได้และไทยไม่ค่อยพอใจนัก
Patani NOTES อ้างคำกล่าวของ อาบูฮาฟิส อัลฮากีม โฆษกกลุ่มมาราปาตานี ว่า การพบปะกันที่เยอรมนีระหว่างตัวแทนบีอาร์เอ็นกับไทยถือเป็นการพบปะอย่างไม่เป็นทางการ ขณะนี้สิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามดำเนินการคือการปรับให้การพูดคุยสองช่องทางของบีอาร์เอ็นที่เกิดขึ้นนี้ ให้กลายเป็นช่องทางอันเดียวกันคือการพูดคุยอย่างเป็นทางการผ่านเวทีที่มาเลเซียจัดให้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง