โฆษกองค์การสหประชาชาติ (UN) แถลงว่า อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น รู้สึกยินดีที่สหรัฐอเมริกาและอิหร่าน
เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2563 โฆษกองค์การสหประชาชาติ (UN) แถลงว่า อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น รู้สึกยินดีที่สหรัฐอเมริกาและอิหร่านถอยหลังจากการเผชิญหน้ากันครั้งใหญ่ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แถลงว่าอิหร่านมีท่าที่ผ่อนคลายลง
ถ้อยแถลงของเลขธิการยูเอ็นมีขึ้นหลังสถานการณ์ในตะวันออกกลางร้อนระอุหนัก เมื่ออิหร่านยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพสหรัฐฯ 2 แห่งในอิรัก เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ ปลิดชีพ พล.ต.คาเซม โซเลมานี อดีตผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของอิหร่าน ท่ามกลางความวิตกของนานาชาติว่าสถานการณ์จะบานปลายกลายเป็นสงคราม
ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ มีชนวนเหตุจากการที่สหรัฐฯ โจมตีทางอากาศสังหารพลเอก คาเซม โซไลมานี่ ผู้บัญชาการกองกำลัง ‘คุดส์’ (Quds) ของอิหร่าน เมื่อ 3 ม.ค. ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ จัดให้เป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อการตายของทหารอเมริกันหลายร้อยคน และกำลังวางแผนการโจมตีครั้งใหม่ ก่อนจะถูกสังหาร ด้าน อิหร่านประกาศล้างแค้น และขับไล่สหรัฐฯ ออกจากตะวันออกกลางให้จงได้
ต่อมา นายทรัมป์ออกมาขู่จะใช้มาตรการทางทหาร หากอิหร่านโจมตีเจ้าหน้าที่หรือฐานทัพของพวกเขา ทำให้เกิดกระแสความวิตกว่า สถานการณ์อาจบานปลายกลายเป็นสงคราม หรือถึงขั้นเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่แถลงการณ์ล่าสุดของนายทรัมป์แสดงให้เห็นว่า เขาลดท่าทีแข็งกร้าวของตัวเองลงมา โดยเขาย้ำว่า สหรัฐฯ จะพิจารณาทุกทางเลือกที่มี แต่การใช้มาตรการทางทหารตอบโต้ในทันทีไม่อยู่ในนั้นด้วย
“ไม่มีชาวอเมริกันบาดเจ็บจากการโจมตีเมื่อคืนนี้ โดยฝีมือของรัฐบาลอิหร่าน” นายทรัมป์ กล่าว แต่เขาตัดสินใจไม่ตอบโต้ด้วยมาตรการทางทหาร โดยระบุว่า “ความเข้มแข็งของอเมริกันทั้งในทางทหารและทางเศรษฐกิจ เป็นการป้องปรามที่ดีที่สุด แม้ว่าเรามีกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องใช้มัน”
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวอีกว่า “ดูเหมือนอิหร่านจะผ่อนท่าทีลง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” อย่างไรก็ตาม นายทรัมป์ประกาศจะคว่ำบาตรทางการเงินและเศรษฐกิจของอิหร่านเพิ่มขึ้นอีกในทันที และจะคงการคว่ำบาตรไว้จนกว่ารัฐบาลเตหะรานจะเปลี่ยนท่าที “อิหร่านต้องทิ้งความทะเยอทะยานทางนิวเคลียร์ และยุติการสนับสนุนผู้ก่อการร้าย”
นายทรัมป์ ยังเรียกร้องให้ อีก 5 ประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านได้แก่ เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, รัสเซีย และจีน รวมทั้งสหภาพยุโรป ละทิ้งข้อตกลงนี้เสีย และขอให้ยุโรปสนับสนุนการกดดันอิหร่านของเขา พร้อมทั้งกระตุ้นให้นาโตเข้าไปมีส่วนร่วมในตะวันออกกลางมากขึ้นด้วย