อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า ปัญหาในปี 2562
วันที่ 2 ม.ค. นายนิมุ มะกาเจ อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า ปัญหาในปี 2562 ตัวบทกฎหมายที่ใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหลายฉบับ มีหลายระดับ มีการนำไปใช้แสวงผลประโยชน์บ้าง การบังคับใช้กฎหมายบางฉบับขาดการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับชาวบ้าน การใช้กฎหมายขาดการให้ความสำคัญต่อหลักศาสนาความเชื่อถือคนในพื้นที่ รวมทั้งประเด็นขัดแย้งเรื่องอื่นๆ เช่น ยาเสพติด สินค้าหนีภาษี ประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายสมานฉันท์ แต่มีการประชาสัมพันธ์น้อย กลุ่มผู้เห็นต่างเป็นผู้ก่อการมีการข่มขู่ชาวบ้านและบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ
การศึกษาที่สอดรับต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่มีน้อย อีกทั้งสถานภาพครูที่จบการศึกษาจากตะวันออกกลางมีมากขึ้น การบูรณาการระบบการศึกษาทั้งสายสามัญและสายศาสนาให้ควบคู่กันมีไม่มาก ยังไม่เพียงพอ ปัจจุบันผลการศึกษามีคุณภาพต่ำในสายตาของประชาชน การกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสมีไม่มาก คุณภาพและประสิทธิภาพของบุคลากรทางการศึกษาอยู่ระดับต่ำ มีการจัดการศึกษาที่สลายอัตลักษณ์ของชุมชนในพื้นที่
การส่งเสริมการเรียนการสอนในระบบ 2 ภาษาที่เน้นเนื้อหาสาระของศาสนา คุณธรรม จริยธรรมในระบบการศึกษามีบ้างยังไม่ครอบคลุมให้มากพอ ยังมีมุมมองความแตกต่างของอัตลักษณ์ในท้องถิ่นอีกมาก ความสำคัญต่อการสื่อสารที่ใช้ภาษาถิ่นและภาษามลายูมีทุกพื้นที่ มุมมองต่อวันหยุดของประเทศในวันสำคัญยังไม่ครอบคลุม เช่น มีวันรายอให้ชาวมุสลิม แต่ศาสนิกอื่นยังไม่มีและหรือมีไม่เพียงพอ การรับรู้ประวัติศาสตร์ปาตานีของชาวบ้านที่ถูกบิดเบือน และความแตกต่างชนต่างศาสนาในพื้นที่มีปริมาณมากขึ้น
ในส่วนของสินค้า การค้าขายทุกประเภทราคาสูงขึ้น ชาวบ้านย่ำแย่มาก สถานการณ์ที่ส่งผลต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจมีน้อยลง การส่งเสริมการลงทุนน้อย การสนับสนุนโครงการเศรษฐกิจไม่เพียงพอ การส่งเสริมให้คนในพื้นที่ประกอบกิจการของตนเองมีบ้าง ไม่มากพอ การสร้างแรงจูงใจในการประกอบอาชีพจากการว่างงานขาดไป การสนับสนุนด้านการลงทุนกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กมีบ้าง ยังไม่เพียงพอ นโยบายรัฐที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกับความต่อเนื่องและครอบคลุมทั้งกระบวนการ
นอกจากนั้น มุมมองการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท ที่บางครั้งกลับทำลายความสัมพันธ์ของชุมชนและสร้างความขัดแย้งให้แก่ชุมชนมีมากขึ้น ในส่วนมุมมองโครงการอุตสาหกรรมฮาลาลกับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจังไม่รุดหน้า การสนับสนุนและสร้างความเข้มแข้งให้แก่กลุ่มออมทรัพย์ของชุมชนยังไม่ครอบคลุม การกระจายแหล่งเงินทุนให้แก่ชุมชนยังคงมีน้อย มุมมองคนอพยพย้ายถิ่นฐานไปประกอบอาชีพหางานทำที่อื่นกลับมีมากขึ้น
การเดินทางไปทำงานในมาเลเซียเชื่อมโยงกับปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ยังคงมีอีกมาก การไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีมากขึ้น มีการสนับสนุนคนที่ไปทำงานและเปิดธุรกิจในประเทศมาเลเซียมีบ้าง แต่ยังไม่มาก ส่วนการปิดด่านชายแดนเพื่อแก้ไขปัญหาคน 2 สัญชาติ ต้องการความร่วมมือจากภาคพื้นที่ให้มากขึ้น
ชาวบ้านขาดที่ดินทำกิน รัฐควรจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชน โดยยกตัวอย่างมาเลเซียที่จัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชน โดยต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่รัฐในราคาถูกเป็นรายเดือน สามารถสืบทอดเป็นมรดกให้แก่ทายาทแต่ไม่สามารถขายให้แก่ผู้อื่นได้ การหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยกลุ่มนายทุน ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม ชาวบ้านขาดโอกาสไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร และประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร ต้องให้อำนาจแก่ชุมชนในการจัดการทรัพยากรภายในชุมชน โดยชุมชนตั้งกองกำลังของตนเองในการคุ้มครองดูแลทรัพยากร ควรกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรให้แก่ชุมชน และป้องกันกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาใช้ทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม
ไม่ควรลงโทษข้าราชการที่กระทำความผิดต่างๆ โดยการโยกย้ายให้มาปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้าราชการที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรเป็นผู้ที่มีความตั้งใจในการทำงาน มีประวัติการทำงานดี และมีความเสียสละพร้อมที่จะทำงานในพื้นที่
นโยบายระบบราชการ การจัดสัดส่วนของข้าราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ระหว่างข้าราชการพุทธและมุสลิม ไทยและมลายู ควรคำนวณตามสัดส่วนของประชากรในพื้นที่ที่เป็นมุสลิมและพุทธ ผู้ว่าราชการจังหวัด ครู ควรเป็นคนในพื้นที่ให้มีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานตามนโยบายที่กำหนด และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน
แก้ไขนโยบายการปกครองท้องที่ ควรขยายเวลาดำรงตำแหน่งของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็น 10 ปี หรือให้หมดวาระเมื่อครบเกษียณอายุ
เจ้าหน้าที่และทหารใหม่ที่มาประจำการในพื้นที่ไม่มีความใกล้ชิดกับประชาชน เพราะไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจกันได้ ควรมีระยะเวลาพี่เลี้ยงประมาณ 1 เดือน ให้ทหารที่กำลังจะผลัดเดิมพาทหารผลัดใหม่ไปทำความรู้จักกับชาวบ้าน และสร้างความคุ้นเคยกับพื้นที่ ควรถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่สีเขียวและให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูแลชุมชนของตนเอง โดยให้ทหารเข้าไปมีส่วนร่วมโดยการเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษา ให้การสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆ เป็นกรณีพิเศษแก่พื้นที่ที่สามารถป้องกันปัญหาหรือสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีหรือพื้นที่ที่มีการจัดการชุมชนที่ดี ส่วนในพื้นที่สีแดง ควรคงกำลังทหารเอาไว้ ทหารมวลชนสัมพันธ์ หน่วยปฏิบัติการจิตวิทยาควรเข้าไปปฏิบัติงานในหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติหน้าที่อย่างสุภาพและเป็นธรรม
รัฐไม่ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ การสั่งการจะมาจากหน่วยงานส่วนกลาง และเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง การบริหารงานของรัฐเป็นแบบ Top-Down ควรมีเวทีประชาคมเพื่อระดมความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำนโยบาย การแก้ปัญหาต้องลงมาดำเนินการตั้งแต่ระดับล่าง หรือระดับฐานราก
รัฐควรสนับสนุนหมู่บ้านพัฒนาและป้องกันตนเองโดยใช้การกระจายอำนาจออกสู่ตำบล หมู่บ้าน โดยเน้นบทบาทผู้นำชุมชนหรือท้องถิ่น และให้เป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจโดยตรงกับคนในพื้นที่ เช่น ให้ทหารทำงานร่วมกับตำรวจท้องที่และประชาชนด้วยวิธีการรับสมัครบุคคลในหมู่บ้านมาฝึกเพื่อเป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชนทดแทน ชรบ. และให้เงินเดือน สวัสดิการตอบแทน โดยมีทหารประจำการเข้ามาเป็นที่ปรึกษาควบคุมแผนยุทธวิธีตำรวจท้องที่ และให้ผู้นำท้องถิ่นคอยควบคุมดูแลความประพฤติที่ไม่เหมาะสม โดยให้อำเภอเป็นศูนย์การบังคับบัญชา ให้โรงเรียนและมัสยิดมีบทบาทในการประชาสัมพันธ์และเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการประสานความร่วมมือกันในชุมชน เป็นสื่อกลางในการรับรู้ปัญหาและสร้างความเข้าใจกับประชาชน
โดยเน้นการแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติด สถาบันครอบครัวและความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน และการตั้งสภาชูรอ จะทำให้การจัดการปัญหาเป็นเรื่องในระดับองค์กรไม่ใช่ระดับบุคคล การจัดการปัญหาควรให้ผู้รู้เข้ามาจัดการ และควรมีเจ้าภาพในการจัดการ เช่น สำนักจุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัด รัฐควรสนับสนุนการรวมกลุ่มของคนในชุมชน ให้ชุมชนดูแลชุมชนและปกครองกันเอง แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกันเอง ควรใช้กระบวนการชุมชนในการจัดระบบดูแลและป้องกันชุมชนและแก้ไขปัญหา และตั้งกฎระเบียบของชุมชนขึ้นมา เมื่อมีการกระทำความผิดก็ควรมีการลงโทษทางสังคม
ขณะเดียวกัน สถิติเหตุการณ์ในพื้นที่ จะพบว่ามีเหตุรุนแรงทุกรูปแบบเกิดขึ้น 274 เหตุการณ์ ซึ่งในจำนวนนี้ตรวจสอบแล้วเป็นการก่อความไม่สงบ 121 เหตุการณ์เท่านั้น แยกเป็นเหตุโจมตีที่ตั้ง 2 เหตุการณ์ ซุ่มโจมตี 3 เหตุการณ์ ยิง 50 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 184 เหตุการณ์) ระเบิด 60 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 61 เหตุการณ์) วางเพลิง 2 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 7 เหตุการณ์) ชิงอาวุธ ทำร้าย อื่นๆ 4 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 17 เหตุการณ์) รวม 121 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 274 เหตุการณ์) โดยเหตุรุนแรงทั้งหมดนี้ ไม่รวมเหตุก่อกวน เช่น วางวัตถุต้องสงสัย
เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุยิง 184 เหตุการณ์ เป็นเรื่องส่วนตัวถึง 133 เหตุการณ์ (ไม่ทราบสาเหตุอีก 1 เหตุการณ์) เช่นเดียวกับเหตุวางเพลิงและวางระเบิด ก็ยังมีการก่อเหตุจากปมขัดแย้งส่วนตัว ไม่ใช่การก่อความไม่สงบ สะท้อนว่าความรุนแรงในพื้นที่ซ้อนทับกันอยู่ระหว่างความขัดแย้งด้วยเหตุปัจจัยอื่นๆ กับปฏิบัติการก่อความไม่สงบของกลุ่มก่อเหตุรุนแรง แต่อาจมีการก่อเหตุด้วยวิธีการคล้ายๆ กัน หรือเลียนแบบกันเพื่อเบี่ยงเบนประเด็น
จำนวนเหตุรุนแรงที่เป็นการก่อความไม่สงบ 121 เหตุการณ์ มีทิศทางลดลงกว่าปีก่อนหน้า เพราะหากย้อนสถิติเหตุรุนแรงในปี 2561 มีเหตุรุนแรงทุกประเภท 161 เหตุการณ์ และยังลดลงต่อเนื่องจากปี 2560 ที่มีเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 178 เหตุการณ์
สำหรับความรุนแรงที่ยังดำรงอยู่ ทำให้เกิดความสูญเสียทุกสาขาอาชีพ หนักที่สุดคือ ประชาชนทั่วไป จะเห็นได้ว่าตกเป็นเหยื่อความรุนแรงถึง 140 ชีวิต นับเฉพาะเหตุก่อความไม่สงบ สูญเสีย 48 คน ขณะที่ตำรวจ ทหาร และผู้นำท้องถิ่น อยู่ในสัดส่วนต่ำลงมา คือ ตำรวจ 9 นาย ทหาร 9 นาย ผู้นำท้องถิ่น 4 คน ที่น่าตกใจคือ ผู้นำศาสนา ซึ่งก็คือพระสงฆ์ มรณภาพไป 2 รูปจากเหตุบุกยิงถึงในกุฏิวัดในอำเภอสุไหงปาดี รวมยอดผู้สูญเสียเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบ 72 ราย เพิ่มขึ้นกว่าปี 60 ที่มียอดผู้เสียชีวิตเพียง 62 ราย
ที่มา ผู้จัดการ