นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือบันทึกข้อความด่วนที่สุดถึงอธิบดี
วันที่ 11 ธ.ค.62 มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือบันทึกข้อความด่วนที่สุดถึงอธิบดีกรมการปกครอง และอธิบดีกรมส่งเริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ทำการศึกษากฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการดำเนินการของ “ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด” (ตาดีกา) ตามข้อเสนอแนะของคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยให้กรมการปครอง (ปค.) ไปศึกษาแนวทางการออกนโยบายเพื่อเข้าไปดูแลและรับผิดชอบศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด โดยตรง ในฐานะที่มีกฎหมายปกครองรองรับ และเป็นหน่วยงานจ่าค่าตอบแทนผู้นำศาสนาให้แก่โต๊ะอีหม่าม และให้ กรมส่งเสริมการกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ตั้งงบประมาณสนับสนุนให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเป็นค่าอาหารกลางวันเด็กให้แก่ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด
“ให้ทั้ง 2 ส่วนราชการ ทำการประเมินความเป็นไปได้ในการดำเนินการให้ครอบคลุมทุกมิติ งาน งบประมาณ ระบบและกำลังคน และจัดทำความเห็นให้ฝ่ายบริหารรับทราบก่อนเทศกาลปีใหม่”
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวเกิดจากเมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมผู้แทนพิเศษของรัฐบาลที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นหัวหน้าคณะ แจ้งในที่ประชุมว่า เนื่องจากศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดเป็นส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลจะได้ติดตามผลการดำเนินการ
“ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลให้ข้อมูลว่า 15 ปีที่ผ่านมาพบว่าสถานศึกษาเป็นแหล่งบ่มเพาะความเชื่อทางศาสนา อาทิใช้พื้นที่และอาคารบริเวณมัสยิด จัดการเรียนการสอนในวันเสาร์และอาทิตย์ เพื่อปลูกฝังหลักการปฏิบัติทางศาสนา กอรปกับการจัดระเบียบศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนว่าอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบหลักของหน่วยงานใด”
จากการจัดทำประชาคมในพื้นที่โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต.ได้สรุปว่า ขอให้ ปค.มีนโยบายเพื่อเข้าไปดูแลและรับผิดชอบศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดโดยตรง ในฐานะที่มีกฎหมายปกครองรองรับ และเป็นหน่วยงานจ่าค่าตอบแทนผู้นำศาสนาให้แก่โต๊ะอีหม่าม ส่วน สถ.ให้ตั้งงบประมาณสนับสนุนให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเป็นค่าอาหารกลางวันเด็กให้แก่ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยที่ให้กับคณะผู้แทนพิเศษ ระบุว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2547 กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด แต่ภายหลังจากมติ ครม.2548 มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานรับผิดชอบแทน แต่การจดทะเบียนจัดตั้งยังอยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด
“มีการกำหนดเป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส พ.ศ. 2548 และภายใต้ระเบียบดังกล่าว ได้กำหนดกลไกการบริหารจัดการศูนย์ระดับอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน แต่มีผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ เป็นฝ่ายเลขานุการ”
โดยกระทรวงมหาดไทยได้เสนอแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดฯ และให้คณะกรรมการบริหารศูนย์ระดับอำเภอ มีปลัดอำเภอเข้ามาเป็นเลขานุการร่วม และกำชับจังหวัดและอำเภอให้ดูแลศูนย์ฯอย่างใกล้ชิด ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล
ส่วนการตั้งงบประมาณเป็นค่าอาหารกลางวันเด็กนั้น กระทรวงมหาไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามระเบียบและกฎหมาย โดยหากมีความจำเป็นต้องอยู่ในสงเคราะห์ของ อปท. หรือมีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกันเสียก่อน และต้องคำนึงถึงศักยภาพของ อปท.ด้วย โดยต้องเสนอผู้บริหารกระทรวงเพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป
ปัจจุบัน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มี อปท.ประมาณ 267 แห่ง แบ่งเป็น อบจ.3 แห่ง เทศบาล 34 แห่ง และ อบต.230 แห่ง