ประเทศโดดเด่นแห่งศตวรรษ แล้วไม่กล่าวถึงประเทศสิงคโปร์ คงจะไม่ได้ เพราะ
ถ้าจะยกตัวอย่างประเทศโดดเด่นแห่งศตวรรษ แล้วไม่กล่าวถึงประเทศสิงคโปร์ คงจะไม่ได้ เพราะประเทศขนาดเล็กๆ ที่เคยไม่มีอะไรเลย แต่สามารถสร้างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม จนได้รับการยอมรับในระดับโลกได้ ต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ซึ่งทุกครั้ง ที่ใครต่อใครพยายามหาคำตอบ ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของประเทศสิงคโปร์ “เรื่องคุณภาพคน” จะถูกยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของความสำเร็จอยู่เสมอ แล้วอะไรทำให้คนสิงคโปร์กลายเป็นคนมีคุณภาพได้ขนาดนั้น
ย้อนหลังกลับไป เมื่อปี ค.ศ. 1965 การเปลี่ยนสถานะจากรัฐๆหนึ่งของประเทศมาเลเซีย สู่การเป็นประเทศเอกราช เป็นความท้าทายของรัฐบาลสิงคโปร์เป็นอย่างมาก เพราะต้องอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ โดยไม่พึ่งพามาเลเซีย
ภารกิจเร่งด่วนสุด ที่รัฐบาลสิงคโปร์ทำในตอนนั้น มีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ เร่างสร้างความเข้มแข็งทางทหารให้มากที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาเขตแดน และภารกิจที่สอง คือการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่การจะทำให้ประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่ง ที่ไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติล้ำค่าอะไร ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ผู้นำในยุคนั้น ค้นพบว่าหนทางที่จะพัฒนาเศรษฐกิจได้ดี และเร็วที่สุด คือจะต้องสร้างมูลค่าจากต้นทุนที่มีอยู่เดิม ซึ่งต้นทุนเดียวที่จะสามารถสร้างมูลค่าได้ อย่างไม่สิ้นสุด ก็คือต้นทุนมนุษย์นั่นเอง
การจะทำให้ทุนมนุษย์มีคุณค่าได้นั้น ก็ต้องทำให้คนสิงคโปร์ทุกคนกลายเป็นคนคุณภาพ สามารถใช้ความรู้ความสามารถไปสร้างเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งเครื่องมือที่จะพัฒนาคนให้มีคุณภาพเช่นนั้นได้ ก็เห็นจะมีแต่ “การศึกษาที่มีคุณภาพ” เท่านั้น
ช่วงปี ค.ศ. 1965 – 1978 ของสิงคโปร์ เป็นช่วงที่นักวิชาการจะเรียกว่า “Survival Economics, Survival-driven education” คือ เป็นยุคของการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอด ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการศึกษาเพื่อความอยู่รอด ทำให้ในยุคนั้น คนสิงคโปร์จะขยัน อดทน เร่งสร้างเนื้อสร้างตัว ประกอบกับรัฐบาลก็จะส่งเสริมให้คนได้มีการศึกษาอย่างทั่วถึง เพื่อจะได้มีความรู้ นำไปประกอบอาชีพ
ต่อมาในช่วง ค.ศ. 1978-1997 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีการพัฒนาขึ้นแล้ว ประกอบกับโอกาศทางการศึกษาถูกกระจายไปอย่างทั่วถึง มีคนเรียนจบระดับปริญญาเพิ่มมากขึ้น สิงคโปร์จึงเริ่มมีการมองถึง การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้ระบบการศึกษาของประเทศ เริ่มมุ่งผลลัพธ์ไปที่การพัฒนาเชิงคุณภาพ มากกว่าการเร่งผลิตในเชิงปริมาณ
ในช่วงนั้นเอง ที่สิงคโปร์เริ่มตระหนักว่า เด็กแต่ละคน อาจมีความถนัดและมีศักยภาพที่แตกต่างกันไป จึงไม่จำเป็นที่ต้องไปกดดันให้เด็กแข่งขันกันเพื่อเป็นหมอ เป็นวิศวกร หรือเป็นทนายความ เท่านั้น แต่เด็กบางคนสามารถทำได้ดีกว่า ในบทบาทของช่างเทคนิค หรือช่างฝีมือ ด้วยแนวคิดดังกล่าว รัฐบาลจึงมุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษาสายอาชีวะควบคู่ไปกับการศึกษาสายสามัญ
เด็กสิงคโปร์ถูกสอนให้มีความเชื่อมั่นใฝ่รู้
นอกเหนือจากการศึกษาทั้งสองสายหลักแล้ว ยุคนั้น ยังเกิดการศึกษาพิเศษ สำหรับเด็กมีพรสวรรค์ ที่เรียกว่า Gifted Education ขึ้น เพื่อให้เด็กที่มีพรสวรรค์เหนือกว่า มาตรฐานทั่วไป ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด
ปี ค.ศ. 2003 สิงคโปร์มีการปฏิรูปแนวคิดการศึกษาใหม่อีกครั้ง โดยมุ่งเน้นให้เป็นการศึกษาแบบสร้างขีดความสามารถให้คนสิงคโปร์ทุกคน กลายเป็นคนคุณภาพ เพื่อคอยสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจบนฐานความรู้ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า Thinking Schools, Learning Nation อันหมายถึง “โรงเรียนที่สอนให้รู้จักคิด” และ “ชาติที่สอนให้เรียนรู้”
ภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าว ระบบการศึกษาในประเทศ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องการปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์, การเรียนรู้ร่วมกัน, และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน โดยที่แต่ละโรงเรียน จะมีอิสระในการกำหนดหลักสูตรเองมากขึ้น ทำให้หลักสูตรของสิงคโปร์ได้ขึ้นชื่อว่ามีความยืดหยุ่นและสร้างสรรค์มาก
ปี ค.ศ. 2005 กระทรวงศึกษาธิการได้มีแนวคิดที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเตรียมเด็กสิงคโปร์ ให้พร้อมเข้าสู่การใช้ชีวิตจริง จึงนำมาสู่หลักการ “Teach less Learn more” อันหมายถึง “สอน ให้น้อยลง แต่เรียนรู้ ให้มากขึ้น” อย่างไรก็ตาม การที่จะทำเช่นนั้นได้ ครูผู้สอนจะต้องเข้าใจแก่นของการศึกษาในแต่ละวิชาเสียก่อนว่า ทำไมเราต้องสอน,? เราจะสอนอะไรให้เด็ก, และเราจะสอนอย่างไรให้เด็กเข้าใจ
ปี ค.ศ. 2009 เป็นปีแรกที่ประเทศสิงคโปร์เข้าร่วมการทดสอบ โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) ที่เป็นการประเมินทักษะ 3 ด้าน ของเด็กนักเรียน อันประกอบไปด้วย ทักษะด้านการอ่าน, ทักษะด้านคณิตศาสตร์, และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ ผลปรากฏว่าเด็กนักเรียนจากประเทศเล็กๆในทวีปเอเชีย สามารถทำคะแนนได้สูงติดอันดับต้นของประเทศที่เข้าร่วมจากเกือบทั่วโลก และหลังจากนั้น สิงคโปร์ก็เข้าร่วมทดสอบ PISA ทุกครั้ง และผลที่ออกมาทุกครั้ง ก็ปรากฏว่าเด็กสิงคโปร์มีอันดับสูงขึ้นทุกครั้ง จนกระทั่งการสอบในปี ค.ศ. 2015 เด็กสิงคโปร์ทำคะแนนได้สูงสุดทั้ง 3 ด้าน ยิ่งทำให้โลกมีความเชื่อมั่นในคุณภาพระบบการศึกษาของสิงคโปร์มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ปี ค.ศ. 2018 World economic forum จัดอันดับให้สิงคโปร์เป็นประเทศ ที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูง เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยหนึ่งในปัจจัยที่พิจารณา ก็คือเรื่องของการศึกษา นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ระบบการศึกษาของสิงคโปร์สร้างผลลัพท์ที่มีคุณภาพ ได้รับการยอมรับในระดับสากล
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจในคุณภาพการศึกษาของสิงคโปร์ ก็คือ การมีครูคุณภาพสูง เพราะสิงคโปร์เชื่อว่า ครูคือกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา ถ้าจะต้องการผลลัพธ์ทางการศึกษาที่ดี ต้องหาครูดีมีคุณภาพมาช่วยสอน
อาชีพครู ในประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นอาชีพที่มีคุณค่ามาก ทั้งมิติทางสังคม และมิติทางเศรษฐศาสตร์ ในด้านสังคมนั้น ก็หมายถึงการยอมรับนับถือทางสังคม เพราะอาชีพครูในสังคมสิงคโปร์นั้นเป็นอาชีพที่มีเกียรติมาก ไม่ใช่ว่าใครอยากจะเป็นครูก็จะเป็นกันได้ง่ายๆ ต้องแข่งขันกันสูงมาก กว่าจะได้เป็นครู ส่วนในด้านเศรษฐศาสตร์นั้น ก็ถือได้ว่า อาชีพครูในสิงคโปร์ ได้รับค่าตอบแทนที่สูงมากพอๆกับอาชีพแพทย์ หรือผู้พิพากษาในบางประเทศเลยทีเดียว ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจ ถ้าจะได้ยินคนสิงคโปร์บอกว่า อาชีพครูเป็นหนึ่งในอาชีพในฝันของคนสิงคโปร์รุ่นใหม่
แต่การเป็นครูในสิงคโปร์ได้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะลำพังแค่เรียนจบสาขาครุศาสตร์คงยังไม่พอ จำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันการศึกษาแห่งชาติ หรือ National Institute of Education จึงจะเป็นครูได้ และก็ไม่ใช่ว่าครูคนไหนจะเดินเข้าไปขออบรมได้เอง แต่คนที่อยากเป็นครูและมีวุฒิการศึกษา จะต้องผ่านการสอบคัดเลือกจะกระทรวงศึกษาธิการเสียก่อน จากนั้นกระทรวงฯ ค่อยส่งครูที่ผ่านการสอบ ไปฝึกอบรมที่สถาบันการศึกษาแห่งชาติ ก่อนที่จะบรรจุเป็นครูคุณภาพตามโรงเรียนต่างๆ และแม้ว่าจะได้บรรจุเป็นครูแล้ว ก็อาจจะยังไม่ได้สอน เพราะยังต้องไปเป็นผู้ช่วยครูอาวุโสที่มีประสบการณ์ก่อน จนเมื่อมีความพร้อมและความมั่นใจเต็มร้อยแล้ว จึงจะได้สอนอย่างเต็มตัว
เมื่อจะได้บรรจุเป็นครูแล้วก็ตาม แต่ครูสิงคโปร์ก็ยังต้องมีการฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาวิธีการเรียนการสอนให้สอดรับกับยุคสมัยและพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กที่ปรับเปลี่ยนไป เนี่ยงจากเด็กสมัยนี้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและมีแหล่งความรู้อยู่ในโลกอินเตอร์เน็ม ทำให้บทบาทของครู ต้องเปลี่ยนไป คือนอกเหนือจากการเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้, เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แล้ว ครูยุคใหม่ยังควรที่จะต้องช่วยให้เด็กได้รับความรู้ที่ดี จากแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง และคอยสอนให้เด็กรู้จักสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์จึงได้สร้างและสนับสนุนเครือข่ายครู ที่เรียกว่า Professional Learning Communities (PLC) เพื่อให้สมาชิกครูได้หมั่นแลกเปลี่ยนความรู้ และช่วยกันพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่น เป็นอีกองค์ประกอบที่ทำให้ครูสิงคโปร์ เป็นครูคุณภาพ ช่วยทำให้การศึกษามีคุณภาพ และช่วยสร้างคนคุณภาพออกไปสู่สังคม โดยสิงคโปร์ได้ตั้งเป้าหมายว่า คนคุณภาพที่มีความพร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 ควรมีลักษณะดังนี้
(1) ต้องเป็นคนที่มีความเชื่อมั่น สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ, รู้จักตนเอง และกล้ายืนหยัดในสิ่งถูกต้อง
(2) เป็นคนมีความใคร่รู้ และมีความรับผิดชอบ
(3) มีความกระตือรือล้น กับการมีส่วนร่วม
(4) มีความเป็นประชากรของสังคมและประเทศชาติ
ทุกวันนี้ ทั่วโลกต่างให้การยอมรับคุณภาพของคนสิงคโปร์ ซึ่งแน่นอนว่าการศึกษามีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างให้คนสิงคโปร์เป็นคนคุณภาพได้อย่างเช่นทุกวันนี้ และจะเห็นได้ว่าช่วงเวลา 50 กว่าปีตั้งแต่เกิดเป็นประเทศสิงคโปร์ขึ้นมา แนวคิดด้านการศึกษาของประเทศนี้ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นทุกคนเอาจริงเอาจังและลงมือทำร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญที่สุด คือสิงคโปร์ไม่เคยหยุดพัฒนา โดยเอาความสำเร็จครั้งก่อน มาเป็นข้อจำกัดในสิ่งที่สามารถทำให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต
ที่มา https://www.posttoday.com/world/606624