ทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคนทักกี ในสหรัฐฯ ระบุว่า หากคุณได้รับการถ่ายทอดหน่วยพันธุกรรม
ทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคนทักกี ในสหรัฐฯ ระบุว่า หากคุณได้รับการถ่ายทอดหน่วยพันธุกรรม หรือ ยีน ที่มีความไวเป็นพิเศษต่อการรับรสขม ก็จะทำให้คุณพบว่าผักสีเขียวอย่างบรอกโคลีและกะหล่ำดาว มีรสชาติไม่อร่อยถูกปากนัก
ยีนนี้ยังอาจทำให้อาหารชนิดอื่น ๆ เช่น เบียร์ กาแฟ และ ดาร์กช็อกโกแลต มีรสชาติไม่น่าอภิรมย์ด้วย
นักวิจัยชี้ว่า ในเชิงวิวัฒนาการ การมีสัมผัสไวต่อรสขมอาจเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยปกป้องมนุษย์จากการกินของที่อาจเป็นพิษต่อร่างกาย
อย่างไรก็ตาม ดร.เจนนิเฟอร์ สมิธ และทีมงานที่ทำการศึกษาเรื่องนี้บอกว่า คุณสมบัติดังกล่าวอาจทำให้บางคนประสบปัญหาในการรับประทานพืชผักผลไม้วันละ 5 อย่าง (อย่างละ 80 กรัม) ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
คนเราต่างได้รับการถ่ายทอดยีนรับรส 2 ตัว ที่เรียกว่า TAS2R38 ซึ่งจะแปลรหัสโปรตีนชนิดหนึ่งในตัวรับรสชาติที่ลิ้น และช่วยให้เราสัมผัสได้ถึงรสขม
คนที่มียีน TAS2R38 เหมือนกันทั้ง 2 ตัวที่เรียกว่า AVI จะไม่มีความไวต่อการสัมผัสรสขมจากสารเคมีบางอย่าง แต่หากมียีน 2 ตัวแตกต่างกัน คือ AVI และ PAV ก็จะสามารถสัมผัสรสขมจากสารเคมีได้ แต่ยังไม่มากเป็นพิเศษเท่าคนที่มียีน PAV แบบเดียวกัน 2 ตัว ซึ่งมักเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "ซูเปอร์เทสเตอร์" (supertaster) ซึ่งมีลิ้นที่สามารถรับรสชาติได้ในระดับที่เข้มข้นมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะรสขม
ในงานวิจัยชิ้นนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษากับกลุ่มตัวอย่าง 175 คน และพบว่าคนที่มียีน PAV เหมือนกัน 2 ตัว จะรับประทานผักใบเขียวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งผักประเภทนี้เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ
ทีมนักวิจัยหวังว่าจะศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาว่า การใช้เครื่องเทศต่าง ๆ จะช่วยกลบเกลื่อนรสขม และทำให้พืชผักมีรสชาติน่ารับประทานมากขึ้นสำหรับคนที่มีสัมผัสไวต่อรสขมได้หรือไม่