ยังมีดินแดนอาณานิคมของอังกฤษอีกบางส่วน ที่นอกจากไม่ได้รับเอกราชแล้ว
ยังมีดินแดนอาณานิคมของอังกฤษอีกบางส่วน ที่นอกจากไม่ได้รับเอกราชแล้ว สถานภาพก็ยังเสมือนว่า แทบไม่ผิดอะไรกับอยู่ในอำนาจอธิปไตยของทางการอีกประเทศหนึ่งอีกต่างหากด้วย ส่งผลให้เป็นปัญหาต่างๆ ที่นำไปสู่ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินผู้คนตามมา ถึงขนาดหลายเปรียบเปรยว่า ไม่ผิดอะไรกับมรดกบาป เป็นซากปรักหักพังของจักรวรรดินิยมอังกฤษที่ทิ้งเอาไว้
ดินแดนที่ว่านั้นก็ได้แก่ ฮ่องกง แคชเมียร์ หรือกัษมีระ และปาเลสไตน์
โดยชะตากรรมของประชาชนพลเมืองในดินแดนข้างต้น ก็ต้องบอกว่า ดำเนินการต่อสู้กับการกดขี่ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอย่างยาวนาน ซึ่งดินแดนดังกล่าวนี้ ที่นับว่าสถานภาพดีกว่าเขา ก็เห็นจะเป็นฮ่องกง ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการค้าการขายระหว่างประเทศหลายๆ ด้าน เช่น การแลกเปลี่ยนปริวรรตเงินตราระหว่างประเทศ ตลาดหลักทรัพย์ และทองคำ เป็นต้น แต่ถ้าพูดถึงการต่อสู้กับการกดขี่ในทางการเมือง ก็ต้องนับว่า ยืนหยัดต่อต้านมาอย่างยาวนานใกล้เคียงกับแคชเมียร์ และปาเลสไตน์ เช่นกัน โดยแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยที่พวกเขาได้เผชิญหน้า
ไล่มาตั้งแต่ประชาชาวปาเลสไตน์ที่ต้องผจญกับการประทุษกรรมการสู้รบจากทางการอิสราเอล
ส่วนที่แคชเมียร์ก็พบความฝันร้ายในฉากละเลงเลือดบนดินแดนแว่นแคว้นที่ทั้งอินเดียและปากีสถาน ล้วนต่างอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครอง
ขณะที่ ฮ่องกง ก็ต้องพบกับการประท้วงครั้งใหญ่ ที่ประชาชนต้องลงเดินขบวนไปตามท้องถนนอยู่เป็นระยะๆ ตลอดช่วงไม่กี่ขวบปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน
บรรดานักวิเคราะห์ ยกตัวอย่าง เอมี ฮอว์คินส์ นักวิเคราะห์ด้านนโยบายต่างประเทศ ซึ่งมีผลงานการเขียนในฐานะคอลัมนิสต์ของหลายๆ สำนักข่าวๆ แสดงทรรศนะแยกย่อยในแต่ละดินแดน
เริ่มจากในแคว้นแคชเมียร์ ที่กำลังอยู่ในสถานการณ์เผชิญหน้าทางการทหารยืนจังก้าระหว่างอินเดียกับปากีสถานกันอยู่นั้น มีอันต้องกลายเป็นดินแดนแคว้น เพราะประชาชนคนที่นั่น ต้องหลั่งเลือดชะโลมดินกันมาตั้งแต่การสู้รบระหว่างกองทัพอังกฤษ ภายใต้การนำของ “บริษัท อังกฤษอินเดียตะวันออก” หรือ “บริติช อีสต์อินเดีย คอมปานี (British East India)” ใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม “อาณาจักรซิกข์ (Sikh Empire)” ในแคว้นแคชเมียร์ จนได้รับชัยชนะเมื่อปี พ.ศ. 2389 (ค.ศ. 1846)
มิหนำซ้ำในระหว่างที่อังกฤษปกครอง ชาวแคว้นแห่งนี้ ก็ประสบชะตามกรรมละเลงเลือด ทั้งจากกองทัพอังกฤษ ที่ยังปราบปรามชาวพื้นเมืองกันอย่างต่อเนื่อง และความรุนแรงจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนต่างศาสนิก คือ มุสลิมกับฮินดู ในพื้นที่
ทั้งนี้ ถึง ณ ปัจจุบัน แคว้นแคชเมียร์ก็เป็นเวทีเผชิญหน้าทางทหารระหว่างอินเดียกับปากีสถาน จนถูกยกให้เป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดสงครามร้อนทางการทหารแห่งหนึ่งของโลก
ถัดมาก็เป็นดินแดนปาเลสไตน์ หนึ่งในอาณานิคมของอังกฤษในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งตกอยู่ในมือของอังกฤษ หลังกองทัพจากเมืองผู้ดีเอาชนะจักรวรรดิออตโตมันเตอร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) หรือหลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้ที่ 1 กันหมาดๆ ก่อนที่จะปล่อยมือจากครอบครองหลังจากนั้นในอีก 3 ทศวรรษต่อมา แต่ทว่า ก็มาพร้อมกับการตั้งถิ่นฐานของยิวในปาเลสไตน์ ในฐานะที่เป็นแดนสวรรค์ หรือไซออน แห่งพันธสัญญาของชาวยิว สถาปนาขึ้นเป็นอิสราเอล ก่อนที่จะเกิดการโจมตีทางทหารระหว่งกันไปมาตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน และจะดำเนินต่อไปในนาคต เพราะปัญหาความขัดแย้งในดินแดนดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข ไร้แห่งแสงสันติภาพ ตามที่หลายฝ่ายวาดหวังกันไว้
ปิดท้ายดินแดนที่เป็นเกาะ ซึ่งกำลังลุกเป็นไฟด้วยเพลิงแห่งม็อบ ณ ปัจจุบัน นั่นคือ ฮ่องกง โดยเกาะแห่งนี้อยู่ในความครอบครองของอังกฤษ นับตั้งแต่ที่กองทัพชาวเมืองผู้ดี มีชัยเหนือพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ใน “สงครามฝิ่น” เมื่อปี พ.ศ. 2385 (ค.ศ. 1842) อังกฤษได้ใช้เกาะแห่งนี้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและป้อมปรากการทางทหาร ก่อนคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997)
ซึ่งบรรยากาศ ณ เวลานั้นกล่าวกันว่า ไม่ผิดอะไรกับการคืนไข่มุกสู่อ้อมอกของพญามังกร และด้วยภายใต้นโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ ฮ่องกง ก็ถือเป็นเขตบริหาร หรือเขตปกครองพิเศษ ของจีนแผ่นดินใหญ่แห่งหนึ่ง แต่ทว่า ก็ตามมาด้วยกระแสความไม่พอใจของประชาชนชาวฮ่องกง
โดยเฉพาะหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ได้จัดม็อบชุมนุมต่อรัฐบาลปักกิ่งตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อความเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น การปฏิวัติร่ม เป็นต้น ล่าสุด สถานการณ์ชุมนุมประท้วงจากความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลปักกิ่งที่จะเข้ามาควบคุมด้านการปกครอง ในการเป็นกำลังภายในผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่จีนแผ่นดินใหญ่ ก็ทำให้ฮ่องกงลุกเป็นไฟ ด้วยเพลิงม็อบมาตราบถึงวันนี้ และไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นเอาเมื่อไหร่
ท่ามกลางคำถามว่า แล้วอังกฤษในฐานะประเทศแม่เดิมจะจัดการปัญหานี้กันอย่างไร? ก็ต้องขอบอกว่า ผู้ดี ณ เวลานี้ก็กำลังระส่ำไม่แพ้ใครด้วยโจทย์ใหญ่ คือ การที่อังกฤษพ้นจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป หรือ “เบร็กซิต” ซึ่งพร้อมจะพ่นพิษ ส่งผลกระทบด้านต่างๆ ต่ออังกฤษ ในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า