ญาติอับดุลเลาะ เข้ายื่นคำร้องทุกข์เป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานสอบสวน
วันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่สถานีตำรวจภูธรหนองจิก จ.ปัตตานี ได้มี น.ส.ซูไมยะห์ มิงกะ พร้อมด้วย นายอับดุลกอฮัร อาแวปูเตะ หรือทนายกอฮา ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมมูลนิธิปัตตานี และทีมกฎหมายของศูนย์ทนายความและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เข้ายื่นคำร้องทุกข์เป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี
เพื่อกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนต่อการสูญเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 ภายในห้อง ICU โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หลังให้การรักษาเป็นเวลา 35 วัน โดยที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ออกหนังสือรับรองการเสียชีวิต ระบุสาเหตุการตายว่า “เสียชีวิตจากภาวะสมองขาดออกซิเจนและขาดเลือด”
ทั้งนี้ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ได้ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายใต้อำนาจตามกฎอัยการศึก นำตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ได้มีการนำตัว นายอับดุลเลาะ ซึ่งหมดสติอยู่ภายในศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร เจ้าหน้าที่ประจำค่ายดังกล่าวจึงนำ นายอับดุลเลาะ เข้ารับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร
จากนั้นได้ส่งไปรักษาตัวต่อ ณ ผู้ป่วยวิกฤต ICU ของโรงพยาบาลปัตตานี ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ถูกส่งตัวรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
โดยแพทย์ระบุว่า ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ผลเอกซเรย์สมองในขณะนั้นพบสมองบวม มีเลือดออกใต้เหยื่อหุ้มสมอง ยังคงใส่เครื่องช่วยหายใจ มีสภาวะไตวายเฉียบพลัน
และจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตทางอายุรกรรมเป็นเวลา 30 วัน และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา
ด้าน นายอับดุลกอฮัร อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมมูลนิธิปัตตานี กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวเป็นคดีที่มีความสำคัญต่อการสร้างให้เกิดความโปร่งใส
และตรวจสอบได้ในการควบคุมตัวบุคคลตามอำนาจกฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การสืบสวนสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏว่า
ก่อนการถูกควบคุมตัวไปนั้น นายอับดุลเลาะ มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว สมาชิกในครอบครัวและสังคมต้องได้รับคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับ นายอับดุลเลาะ ระหว่างถูกควบคุมตัวภายในศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร
และหากเป็นการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญา พนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่ติดตามและหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป