จีนจัดพิธีครบรอบ 88 ปี ‘เหตุการณ์ 18 กย’ ในเสิ่นหยาง เมืองเอก
จีนจัดพิธีครบรอบ 88 ปี ‘เหตุการณ์ 18 ก.ย.’ ในเสิ่นหยาง เมืองเอกของมณฑลเหลียวหนิง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยมีประชาชนและตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมรำลึกอดีตในวันที่ 18 ก.ย. 1931 ที่ญี่ปุ่นเคยเข้ามาเปิดฉากรุกรานจีนอย่างเป็นทางการด้วยการระเบิดทางรถไฟ และถล่มค่ายทหารจีน
งานดังกล่าวจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 25 แล้ว โดยเริ่มตั้งแต่การเปิดไซเรนเตือนภัยทางอากาศนาน 3 นาที เมื่อเวลา 9.18 น. และการตีระฆัง 14 ครั้ง เพื่อสื่อถึงสงครามต่อต้านการรุกรานที่กินเวลายาวนานถึง 14 ปี
นอกจากนี้ บรรดานักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเหลียวหนิงยังร่วมจัดกิจกรรมที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ 9.18 ในเสิ่นหยาง โดยในวันดังกล่าว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะมีผู้มาเยือนมากถึงราว 10,000 คน
ผู้เยี่ยมชมต่างร่วมระลึกถึงอดีตที่ยากลำบากและชื่นชมในความแข็งแกร่งของเหล่าวีรบุรุษสงคราม ซึ่งมีทหารและพลเรือนจีนกว่า 35 ล้านชีวิตต้องทุกข์ทรมานจากความตายหรือการบาดเจ็บ ก่อนสงครามสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของจีน
หยางจิ้งอวี่ เป็นหนึ่งในวีรบุรุษผู้สละชีพในสงครามนั้น ซึ่งมีชื่อเสียงในหมู่ชาวจีน เขาเคยถูกส่งไปยังจีนตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อต่อสู้กับกองทหารญี่ปุ่นในปี 1932 ก่อนเสียชีวิตในสนามรบในปี 1940
นายทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งอยากรู้ว่า ทำไมทหารจีนอย่างหยางจิ้งอวี่ถึงต่อสู้ได้อย่างดุเดือด ไร้ความเกรงกลัว จึงนำศพของเขามาผ่าออก และพบว่าในกระเพาะของเขาไม่มีอะไรเลย นอกจากรากหญ้าและใยฝ้าย
หลานชายของหยางกล่าวว่าครอบครัวของเขายังคงเก็บเปลือกต้นเบิร์ชในผ้าสีแดง ซึ่งเป็นของขวัญจากสหายของหยางเมื่อพ่อแม่ของเขาเดินทางไปเยือนฮาร์บินในปี 1953
“ต้นเบิร์ชโตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ทหารหลายนายรวมถึงปู่ของผมกินเปลือกต้นไม้นี้เข้าไปเพื่อดับความหิวโหย เพื่อที่พวกเขาจะสู้ต่อไปได้”
เมิ่งเสี่ยนเต๋อ คือทหารอีกนายผู้เข้าร่วมสงครามนี้ เขามีชีวิตรอดจากสงคราม ทว่าได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 102 ปีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ลูกชายของเมิ่งเสี่ยนเต๋อเล่าว่า “พ่อของผมพูดเสมอว่าเราไม่ควรลืมความเจ็บปวดในอดีต แม้บาดแผลจะหายดีแล้ว แต่เรายังต้องจดจำเรื่องราวนั้นไว้”