วันที่ 4 ก.ย. เวลา 12.00 น. ที่รัฐสภา น.ส.ซูไมย๊ะห์ มิกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ พร้อมญาติได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ หลังถูกคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี โดยมี น.ส.พรรณิการ์ วาณิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่เป็นผู้รับหนังสือ
น.ส.พรรณิการ์กล่าวว่า ทางพรรคอนาคตใหม่ได้ติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องว่าทำไมนายอับดุลเลาะถึงออกมาจากค่ายอิงคยุทธบริหารในสภาพเจ้าชายนิทราก่อนจะเสียชีวิต จากการตรวจสอบรูปถ่ายที่โรงพยาบาลปัตตานี เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา
พบว่าร่างกายของนายอับดุลเลาะมีบาดแผลหลายแห่ง ทั้งรอยถลอกที่ข้อเท้า มีหนองไหลออกมาจากหู พบรอยแดงที่ข้อมือที่คาดว่าอาจเกิดจากการมัด และรอยจี้ที่นิ้ว คาดว่าอาจเกิดจากการช็อตไฟฟ้า จึงขอให้นายกรัฐมนตรี กองทัพ และกระทรวงกลาโหม ออกมาอธิบายเรื่องดังกล่าวอย่างมีน้ำหนักว่าทำไมนายอับดุลเลาะถึงออกมาจากค่ายอิงคยุทธบริหารด้วยสภาพสมองขาดออกซิเจน รวมถึงโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งที่เกี่ยวข้อง
คือ โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ต้องเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่สามารถทำให้กรณีดังกล่าวเกิดความชัดเจน
“นายอับดุลเลาะไม่ใช่คนแรกที่ออกมาจากค่ายทหารและมีสภาพบาดเจ็บสาหัส พิการ หรือเสียชีวิต มีข้อมูลที่ทำการวิจัยโดยกลุ่มวิจัยสิทธิมนุษยชน จ.ปัตตานี และกลุมประสานวัฒนธรรมในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2547
พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีผู้ถูกกระทำลักษณะนี้ 54 ราย ทั้งหมดเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู 51 เปอร์เซ็นต์ มีอายุระหว่าง 29-38 ปี และ 57 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวปัตตานี หมายความว่าประชาชนที่มีลักษณะเดี่ยวกับนายอับดุลเลาะเป็นแบบฉบับผู้ต้องสงสัยที่รัฐตั้งข้อสังเกต”
นอกจากนี้ยังขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นซึ่งอาจมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในและต่างประเทศร่วมอยู่ในกรรมการด้วย เพื่อตรวจสอบการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
และเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริง เนื่องจากพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 แบบมานานกว่า 1 ทศวรรษ เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการทวงคืนความเป็นธรรมแก่ครอบครัวของนายอับดุลเลาะเท่านั้น แต่เป็นการทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
ด้าน พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวเสริมว่า การใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภายใต้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ เช่นเดียวกับการลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาเอง ต้องอบรมผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยว่าประชาชนนั้นไม่ใช่ผู้ต้องสงสัย รวมทั้งต้องสามารถตรวจสอบกระบวนการต่างๆ ได้อย่างโปร่งใส
หากยังมีการปฏิบัติลักษณะนี้ย่อมไม่สามารถแก่ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้ แต่กลับจะเพิ่มจำนวนแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบให้มากขึ้น