เพนตากอนทดสอบยิงครูสมิสไซล์พิสัยกลาง หลังถอนตัวสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์
กระทรวงกลาโหมสหรัฐ แถลงเมื่อวานว่า ได้ทำการทดสอบยิงขีปนาวุธร่อน ( cruise missile ) ตามแบบ ยิงจากพื้นดิน บนเกาะซานนิโคลัส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันอาทิตย์ ( 17 ส.ค.) และขีปนาวุธโจมตีเป้าหมายอย่างแม่นยำหลังจากเดินทางกว่า 500 ก.ม.
เพนตากอน ระบุว่า ข้อมูลและบทเรียนจากการทดสอบครั้งนี้ จะใช้ในการพัฒนาศักยภาพขีปนาวุธพิสัยกลางของกระทรวงกลาโหมในอนาคตต่อไป
แถลงการณ์เพนตากอน บอกเป็นนัยว่า ครูสมิสไซล์ตามแบบ ที่ทดลองเมื่อสุดสัปดาห์ สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้
นับเป็นการทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลางครั้งแรก ราวสองสัปดาห์หลังจากรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากสนธิสัญญาไอเอ็นเอฟ ( INF -Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty) อย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ส.ค. ปิดฉากอีกกลไกสำคัญที่ใช้ควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสองมหาอำนาจ
ไอเอ็นเอฟ เป็นสนธิสัญญาที่ ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ลงนามกับ มิคฮาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต เมื่อปี 2530 สาระหลักคือห้ามขีปนาวุธจากภาคพื้นดินที่มีพิสัยยิง 500 -5,500 ก.ม. ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อคลี่คลายวิกฤติการณ์ตึงเครียดในคริสต์ทศวรรษ 1980 หลัง สหภาพโซเวียตประจำการขีปนาวุธพิสัยกลางติดหัวรบนิวเคลียร์ SS-20 พุ่งเป้าเมืองหลวงตะวันตก
แต่รัฐบาลทรัมป์ อ้างว่ารัสเซียเพิกเฉยก่อน และพัฒนาครูสมิสไซล์พิสัยกลางเกินจากที่สนธิสัญญากำหนด
การถอนตัวจากไอเอ็นเอฟ เป็นความขัดแย้งรุนแรงสุดนับจากสงครามเย็นสิ้นสุดในปี 2534 ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าการล่มสลายของไอเอ็นเอฟ อาจบั่นทอนข้อตกลงควบคุมอาวุธโลกฉบับอื่นๆ และระบบที่ประชาคมโลกเคยวางไว้เพื่อขัดขวางการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์