ครอบครัวของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ชายมุสลิมที่หมดสติและถูกนำส่งห้องไอซียู
บทความโดย BBC ไทย
ครอบครัวของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ชายมุสลิมวัย 34 ปี ที่หมดสติและถูกนำส่งห้องไอซียูระหว่างถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2562 ยืนยันว่าจะเดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมและให้สอบสวนข้อเท็จจริง เพราะเชื่อว่าเขาถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัว
นายโมฮัมหมัด รอฮมัด มามุ ญาติของนายอับดุลเลาะให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยทางโทรศัพท์จาก ร.พ.สงขลานครินทร์ จ.สงขลา ว่าช่วงเย็นวันที่ 22 ก.ค. นายอับดุลเลาะได้ถูกส่งตัวจาก ร.พ.ปัตตานีมารักษาที่ ร.พ.สงขลานครินทร์แล้ว ล่าสุดแพทย์แจ้งว่าอาการทรุดลงเนื่องจากความดันลด สมองยังคงบวม มีเลือดคั่งและยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ
ขณะที่นางซูไมยะ ภรรยาและนางกรือซง ยามา แม่ของเขาอยู่ในอาการเศร้าโศกตลอดเวลา
ผลเลือกตั้ง 2562 ชายแดนใต้ บอกอะไรได้บ้าง
เลือกตั้ง 2562 : พรรคการเมืองจี้ถอนทหาร-เลิกกฎหมายพิเศษในชายแดนใต้
ไฟใต้ 15 ปี: ชาวพุทธ-มุสลิมต่างรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จ.ชายแดนใต้ แต่ก็ยังจะดูแลกัน หลังเหตุยิงอิหม่ามและพระสงฆ์ต่อเนื่องกันไปที่นราธิวาส
นายโมฮัมหมัดยืนยันว่าครอบครัวจะเดินหน้าเรียกร้องหาความยุติธรรม เพราะเชื่อว่าการบาดเจ็บของนายอับดุลเลาะเกิดจากการถูกกระทำขณะควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร
“เขาเป็นคนแข็งแรง ก่อนถูกควบคุมตัวก็ยังปกติดีทุกอย่าง แต่ถูกควบคุมตัวไปไม่ถึง 24 ชั่วโมงเขาก็หมดสติและอยู่ในสภาพแบบนี้”
ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า พล.ท. พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้เร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จในกรณีนี้ และยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เบื้องต้นไม่พบหลักฐานว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่
เกิดอะไรขึ้นกับ “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ”
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่งคง เนื่องจากเขาถูกผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับแกนนำที่ถูกควบคุมตัวก่อนหน้านี้ซัดทอดว่าเป็นคนที่คอยช่วยเหลือสนับสนุนการก่อเหตุในพื้นที่มาแล้วหลายครั้ง เจ้าหน้าที่จึงได้จัดกำลังเข้าควบคุมตัวจากบ้านพักใน ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2562 โดยมีผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนาและภรรยาอยู่ในเหตุการณ์ด้วย
หลังจากนั้นนายอับดุลเลาะถูกส่งตัวไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรสายบุรี และส่งตัวต่อไปที่หน่วยซักถามเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร การตรวจร่างกายก่อนเข้าสู่กระบวนการซักถามพบว่านายอับดุลเลาะร่างกายแข็งแรงดี แต่ระหว่างการซักถามได้มีอาการเครียด จึงให้ไปพักในเวลา 21.30 น. จนกระทั่งเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค. เจ้าหน้าที่พบว่านายอับดุลเลาะนอนหมดสติอยู่ภายในห้องควบคุม จึงได้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหารเพื่อช่วยชีวิตเบื้องต้นก่อนนำส่งต่อโรงพยาบาลปัตตานี
นายโมฮัมหมัด รอฮหมัด ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า อับดุลเลาะถูกควบคุมตัวขณะเตรียมเข้าพิธีละหมาดตอนเย็น โดยเขาไม่ได้แสดงอาการขัดขืนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
หลังจากควบคุมตัวไปแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้แจ้งให้ญาติทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนกระทั่งภรรยาของนายอับดุลเลาะเดินทางไปเยี่ยมสามีที่ค่ายอิงคยุทธบริหารในช่วงสายวันที่ 22 ก.ค. จึงได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่านายอับดุลเลาะถูกส่งไปโรงพยาบาลปัตตานี ญาติจึงตามไปที่โรงพยาบาล และพบว่าถูกนำตัวเข้ารักษาในห้องไอซียู พยาบาลบอกกับญาติว่านายอับดุลเลาะมีอาการสมองบวมอย่างรุนแรง คาดว่าขาดอากาศหายใจเป็นเวลานาน
นายโมฮัมหมัด รอฮมัดยืนยันว่านายอับดุลเลาะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ
“เขาตื่นตี 5 ออกไปกรีดยาง กลับมาก็ไปทำงานก่อสร้าง กลับบ้าน 5 โมงเย็น เป็นแบบนี้ทุกวัน ทางครอบครัวขอยืนยันว่าเขาไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับขบวนการตามที่ถูกซัดทอด” นายโมฮัมหมัดบอก
นายอับดุลเลาะเป็นคนที่คอยดูแลนางกรือซง ยามา อายุ 60 ปี ซึ่งพิการเป็นใบ้แต่กำเนิด ส่วนพ่อของเขาเสียชีวิตไปนานแล้ว นายอับดุลเลาะและภรรยามีลูกชายด้วยกัน 2 คน อายุ 7 ขวบและ 2 ขวบ
วันนี้ ทางครอบครัวได้เข้าร้องเรียนกับศูนย์ทนายความมุสลิม จ.ปัตตานี และได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สภ.เมืองปัตตานี แล้ว และหลังจากนี้จะติดตามเรื่องอย่างถึงที่สุด นายโมฮัมหมัด รอฮมัดกล่าว
“ยังไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่”
วันนี้ (22 ก.ค.) พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า พล.ท. พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้เร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จในกรณีนี้ และยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
“หากพบเป็นความผิดพลาดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ก็จะทำการลงโทษสถานหนักทั้งทางวินัยและอาญาทหารโดยไม่ละเว้น” พ.อ. ปราโมทย์ระบุ
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้านำภาพมาประกอบการแถลงข่าวเพื่อยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนการเชิญตัวมาซักถาม
โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าระบุว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องตั้งแต่การเชิญตัว การควบคุมตัวเพื่อซักถามและยังไม่พบหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่า เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจร่างกายของแพทย์ที่ระบุว่าไม่พบร่องรอยบาดแผลฟกช้ำภายนอกร่างกาย แต่พบว่าสมองมีอาการบวมซึ่งน่าจะเกิดจากการขาดออกซิเจนในขณะช็อก หมดสติ หรือเกิดจากการปั๊มหัวใจช่วยชีวิต นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยมีค่าน้ำตาลในเลือดและค่าเม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติแต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เป็นสาเหตุของการช็อคหมดสติโดยต้องรอยืนยันจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป
พ.อ.ปราโมทย์กล่าวว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมให้มีการพิสูจน์ความจริงด้วยการให้คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประกอบด้วยผู้แทน จากองค์กรต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสังคมเข้าทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างอิสระ
กฎอัยการศึกให้อำนาจทหารอย่างเต็มที่
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายอับดุลเลาะ ทำให้ข้อสงสัยเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยขณะอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่ง รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระด้านความมั่นคงมองว่าปัญหานี้ไม่หมดไปง่าย ๆ ตราบใดที่กฎอัยการศึกยังคงมีผลบังคับใช้ในพื้นที่
ก่อนหน้านี้กฎอัยการศึกเคยถูกยกเลิกไประยะหนึ่งในปี 2548 หลังจากมีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งหลังการรัฐประหารปี 2549 แล้วตั้งแต่นั้นก็บังคับใช้มาตลอด
“อำนาจสำคัญอย่างหนึ่งในกฎอัยการศึกก็คือ การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลเป็นเวลา 7 วันได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล คือ ทหารเข้าไปจับกุมได้เลย ให้อำนาจทหารอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการตรวจสอบหรือถ่วงดุลตามมาตรฐานทางกฎหมายปกติที่ใช้กันในพื้นที่อื่น” รุ่งรวีกล่าว
“เราต้องมาดูว่ากฎหมายพิเศษมันมีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหน แล้วมันนำไปสู่การแก้ปัญหาได้แค่ไหนที่ผ่านมามันไม่มีกลไกที่จะไปตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงภายใต้กฎอัยการศึก อันนี้เป็นปัญหาใหญ่”
สำหรับกรณีนี้ รุ่งรวีเสนอว่าควรมีการตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งบุคคลที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมกันหาข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น
รุ่งรวีกล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อมีการร้องเรียนเรื่องบุคคลถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะเป็นเจ้าภาพในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่หลังจากที่มีประกาศ คสช. ที่ 98/2557 ที่ให้ ศอ.บต.อยู่ภายใต้ กอ.รมน. บทบาทในการอำนวยความยุติธรรมตรงนี้จึงลดลงไป และหาก ศอ.บต.จะเป็นเจ้าภาพในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็อาจไม่ได้รับความไว้วางใจจากญาติผู้เสียหายเพราะถือว่าเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้ กอ.รมน.
แอมเนสตี้เรียกร้อง กสม. ตรวจสอบ
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรดำเนินการสอบสวนกรณีนายอับดุลเลาะโดยทันที
“การสอบสวนต้องนำมาซึ่งผลที่แน่ชัดว่านายอับดุลเลาะถูกเจ้าหน้าที่รัฐทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายระหว่างถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม เวลา 16.00 น. จนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม เวลา 03.00 น. หรือไม่ โดยการสอบสวนดังกล่าว ควรเป็นภารกิจของหน่วยงานอิสระ ไม่ใช่ปล่อยให้ทหารสอบสวนกันเอง”
“หากการสอบสวนพบว่ามีการทรมานเกิดขึ้น ทางการไทยจะต้องให้การประกันว่าจะมีการดำเนินคดีอาญาในศาลยุติธรรม เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดี และลงโทษผู้กระทำผิด”