กลายเป็นข่าวใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก สำหรับการเปิดตัวเงินสกุลใหม่ของโลก "ลิบรา" (Libra) ที่มาในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่ Facebook เพิ่งจะประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2563
เชื่อว่าใครหลายคนคงเกิดความสงสัยกันว่า เงินสกุลใหม่นี้จะเข้ามามีบทบาทอย่างไรกับระบบเศรษฐกิจโลก สามารถใช้จ่ายได้จริงหรือไม่ มีความน่าเชื่อถือเพียงไร และใครจะเป็นผู้กำกับดูแลเงินสกุลใหม่นี้ให้มีความโปร่งใสในการดำเนินการ ซึ่งในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ทางเพจ ลงทุนแมน ก็ได้ทำการสรุปสาระสำคัญว่าด้วยเรื่องของ สกุลเงินลิบรา ไว้แล้ว โดยมีเนื้อหา ดังนี้....
"โลกต้องการสกุลเงินดิจิทัล ที่เชื่อถือได้"
ประโยคนี้เป็นคอนเซ็ปต์ในการสร้างสกุลเงินดิจิทัล Libra ที่เพิ่งประกาศออกมาอย่างเป็นทางการผ่าน White Paper ความยาว 12 หน้า ซึ่งมีการพูดถึงปัญหาของโลกในปัจจุบัน ที่ในตอนนี้ ผู้คนทั่วโลก 1.7 พันล้านคน ยังไม่เข้าถึงธนาคารในระบบการเงินแบบดั้งเดิม ในขณะที่ผู้คนเข้าถึงสมาร์ตโฟนมีจำนวนมากกว่าเสียอีก
ประเด็นที่สำคัญคือ คนที่มีเงินน้อยกลับมีต้นทุนสูงในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียม ค่าโอน ค่าบัตร ATM
Blockchain และ Cryptocurrency มีคุณสมบัติที่จะมั่นใจได้ว่าไม่มีใครคนใดคนหนึ่งสามารถมีอำนาจควบคุมระบบทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน ด้วยความผันผวน และยังไม่เข้าสู่คนจำนวนมาก ทำให้มันไม่สามารถเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนได้
รวมไปถึงปัญหาที่สำคัญคือ บางสกุลเงิน มีจุดมุ่งหมายที่หลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ทำให้เกิดปัญหาการฟอกเงิน
ซึ่ง Libra เชื่อว่า การร่วมมือกับหลายหน่วยงานในการตรวจสอบ จะทำให้ระบบมีความยั่งยืน และสามารถเชื่อมต่อกับระบบการเงินทั่วโลกได้
สกุลเงินนี้จะไม่เหมือนกับ สกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ตรงที่ Libra จะเน้นเป้าหมายของการถือครองเงินสกุลนี้ระดับ "พันล้านคน"
โดยสิ่งที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จได้จะประกอบไปด้วย 3 เรื่องที่สำคัญ คือ
1. Libra จะถูกสร้างอยู่บน Blockchain ที่มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และสามารถรองรับผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากระดับพันล้านคนได้
2. Libra จะถูกค้ำโดยเงินสำรอง ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่จริง โดยไม่ได้อิงจากเพียงสกุลเงินเดียว แต่เป็นตะกร้าของสกุลเงินประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น เงินฝากธนาคาร และพันธบัตรรัฐบาล เพื่อทำให้เกิดมูลค่าในตัวมันเอง (Intrinsic Value)
3. Libra จะถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงานอิสระ ชื่อ Libra Association ผ่าน Founding Members ในหลายกลุ่มธุรกิจ โดยตอนแรกจะเริ่มจาก 27 หน่วยงาน
กลุ่ม Payments ประกอบด้วย Mastercard, PayPal, PayU, Stripe และ Vila
กลุ่ม Technology ประกอบด้วย Booking Holdings, eBay, Facebook/ Calibra, Farfetch, Lyft, Mercado Pago, Spotify AB และ Uber Technologies
กลุ่ม Telecommunications ประกอบด้วย Iliad และ Vodafone Group
กลุ่ม Blockchain ประกอบด้วย Anchorage, Bison Trails, Coinbase และ Xapo Holdings
กลุ่ม Venture Capital ประกอบด้วย Andreessen Horowitz, Breakthrough initiatives, Ribbit Capital, Thrive Capital และ Union Square Ventures
รวมถึงกลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง โดยคาดว่าจะมี 100 สมาชิกเข้าร่วมภายในครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2563
อย่างไรก็ตาม ในเริ่มแรก ทีมจาก Facebook จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนองค์กรนี้ โดยร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ผ่านบริษัทลูกชื่อ Calibra แต่หลังจากนั้น Facebook และบริษัทลูกจะลดตัวลงมาเป็นสมาชิกขององค์กร โดยไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือกว่าสมาชิกคนอื่น
โดยการให้บริการจะเริ่มจาก การโอนเงิน Libra ในสมาร์ตโฟน ผ่านแอปพลิเคชัน WhatsApp และ Messenger ไม่ต่างจากที่เราส่งรูป หรือข้อความในนั้น และต่อมาปีหน้าก็จะมีแอปพลิเคชันแยกต่างหากชื่อ "Calibra"
แอปพลิเคชัน Calibra จะกลายไปเป็นกระเป๋าเงินของคนทั้งโลก โดยมีการแยกข้อมูลด้านการเงิน และบัญชีผู้ใช้โซเชียลออกจากกัน นั่นหมายความว่าถ้าบัญชีโซเชียลเราถูกขโมย หรือถูกแบน ไม่ได้แปลว่ากระเป๋าเงินของเราจะหายไปด้วย
และที่สำคัญคือ Calibra จะถูกกำกับดูแลไม่ต่างจากสถาบันการเงินอื่น ๆ อะไรก็ตามที่อยู่ใน Calibra จะไม่ได้ถูกแชร์ไปที่ Facebook
ในตอนแรก Calibra จะสามารถส่งเงิน Libra ให้แก่กันโดยมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำมากจนถึงฟรี และในที่สุด Libra จะถูกใช้ในการซื้อสินค้าบริการในชีวิตประจำวัน เช่น สามารถใช้ซื้อกาแฟ, จ่ายบิล หรือแม้แต่จ่ายเงินค่าโดยสาร โดยที่เราไม่จำเป็นต้องถือเงินสด หรือแม้แต่บัตรโดยสารใด ๆ
ที่น่าสนใจก็คือ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก กล่าวว่า จะมีหน่วยงานกำกับดูแล ควบคุมการทุจริต ถึงขนาดที่ว่า ถ้าเราถูกขโมยเงินใน Calibra ระบบจะมีการ refund หรือคืนเงินให้ด้วย..