ทางตะวันออกของอินโดนีเซีย มีหลายพื้นที่ที่คุณแม่ยังสาวเกือบทุกคนเดินทางออกไปทำงานในต่างประเทศ ชาวอินโดนีเซียเรียกชุมชนเหล่านี้ว่า “หมู่บ้านไร้แม่” รีเบกกา เฮนช์เก ผู้สื่อข่าวบีบีซี เดินทางไปพบเด็กที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
ทางตะวันออกของอินโดนีเซีย มีหลายพื้นที่ที่คุณแม่ยังสาวเกือบทุกคนเดินทางออกไปทำงานในต่างประเทศ ชาวอินโดนีเซียเรียกชุมชนเหล่านี้ว่า “หมู่บ้านไร้แม่” รีเบกกา เฮนช์เก ผู้สื่อข่าวบีบีซี เดินทางไปพบเด็กที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
เอลี ซูซีอาวาตี มีอายุได้ 11 ขวบ ตอนที่แม่ทิ้งเธอไว้ให้ยายดูแล ตอนนั้นพ่อแม่ของเธอเพิ่งแยกทางกัน เพื่อที่จะหาเลี้ยงครอบครัว มาร์เตีย แม่ของเธอ ต้องไปทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย
ตอนที่ฉันพบกับ เอลี ครั้งแรก เธอเรียนอยู่ปีสุดท้าย เธอเล่าให้ฉันฟังว่าเธอทุกข์ยากมากแค่ไหน หลังจากที่แม่จากเธอไป เห็นได้ชัดว่าการที่ต้องพรากจากกันกับแม่ยังคงทำให้เธอรู้สึกเจ็บปวด
“ตอนที่ฉันพบเพื่อน ๆ อยู่กับพ่อแม่ที่โรงเรียน ทำให้ฉันรู้สึกขมขื่น ฉันเฝ้ารอคอยให้แม่กลับมาบ้าน” เธอกล่าว
“ฉันไม่อยากให้แม่ต้องอยู่ห่างจากฉัน ฉันอยากให้แม่อยู่บ้าน ดูแลลูก”
ในหมู่บ้านวานาซาบา ของเอลี ในลอมบอกตะวันออก เป็นที่รู้กันดีว่าการทำงานในต่างประเทศ เป็นเรื่องที่คุณแม่ยังสาวต้องทำ เพื่อทำให้ลูกมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม
ผู้ชายส่วนใหญ่ที่นี่เป็นเกษตรกร หรือไม่ก็กรรมกร มีรายได้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่ผู้หญิงหาได้จากการทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านเรือน หรือคนเลี้ยงเด็กในต่างประเทศ
หมู่บ้านแห่งนี้ เต็มไปด้วยบ้านเรือนที่อยู่กันอย่างแออัด ใกล้กับถนน มีตรอกซอกซอยจำนวนมากซึ่งกว้างพอที่จะให้รถจักรยานยนต์ผ่านได้ หลังบ้านเรือนเหล่านี้ เป็นทุ่งนาที่ดูเหมือนจะสุดลูกหูลูกตา
เมื่อเหล่าคุณแม่เดินทางจากไป สามีและคนในครอบครัวก็ต้องรับหน้าที่ดูแลลูก และทุกคนที่นี่ก็ช่วยกันดูเด็ก ๆ
เป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากสำหรับเด็กทุกคนที่ต้องบอกลาแม่
แม่ของ การีมาตุล อาดิเบีย เดินทางจากเธอไปตอนที่เธออายุได้ 1 ขวบ เธอจำไม่ได้แม้กระทั่งช่วงเวลาที่อยู่กับแม่
จนกระทั่งเมื่อเธอเรียนใกล้จบชั้นประถมศึกษา แม่จึงเดินทางกลับบ้านมาหาเธอได้
แต่ตอนนั้น การีมาตุล ก็เข้าใจว่าป้าซึ่งเป็นคนเลี้ยงดูเธอมา เป็นแม่ของเธอ
“ฉันสับสนมาก” การีมาตุล กล่าว
“ฉันจำได้ว่า แม่ร้องไห้ เธอพูดกับป้าฉันว่า ‘ทำไมลูกฉันไม่รู้ว่า เธอเป็นลูกฉัน'”
ป้าของการีมาตุล ตอบว่า ญาติ ๆ ไม่มีรูปภาพของเธอ และสิ่งที่การีมาตุลรู้เกี่ยวกับแม่ของเธอก็คือชื่อและที่อยู่ จึงไม่น่าแปลกใจที่เธอไม่เข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ “ฉันรู้สึกคิดถึงแม่มากจริง ๆ แต่ขณะเดียวกัน ฉันก็รู้สึกโกรธที่แม่ทิ้งฉันไปตั้งแต่ฉันยังเล็ก” การีมาตุล กล่าว
ตอนนี้ เธออายุ 13 ปีแล้ว เธอวิดีโอคอลคุยกับแม่ทุกคืน และทั้งสองส่งข้อความหากันบ่อย ๆ แต่ก็ยังเป็นความสัมพันธ์ที่ยากอยู่ดี
“แม้แต่ตอนที่แม่กลับมาเยี่ยมบ้าน ฉันก็อยากอยู่กับป้า แม่ขอให้ฉันอยู่กับแม่ แต่ฉันบอกว่าจะมาหาทีหลัง”
ไบก์ นูร์จันนาห์ ป้าของเธอ ยังเลี้ยงดูเด็กคนอื่น ๆ อีก 9 คน ด้วย ในจำนวนนี้เป็นลูกของเธอเองเพียงคนเดียว ส่วนคนอื่น ๆ เป็นลูก ของพี่น้องของเธอที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ
“ฉันถูกเรียกว่า แม่ใหญ่” เธอเล่าพร้อมกับหัวเราะ
ตอนนี้ในวัยกว่า 50 ปี เธอมักจะยิ้มและกล่าวสดุดีองค์พระอัลเลาะห์ว่า อัลฮัมดูลิลลาห์ (alhamdulillah) ในเกือบทุกประโยคที่เธอพูด
“ฉันเลี้ยงเด็ก ๆ เหมือนกัน” เธอเล่า “พวกเขาเป็นเหมือนพี่น้องกัน และถ้าพวกเขาไม่สบาย หรืออยากได้อะไร อัลฮัมดูลิลลาห์ ฉันก็จะช่วยพวกเขา”
ผู้หญิงในพื้นที่นี้ของอินโดนีเซียเริ่มเดินทางไปทำงานในต่างประเทศในช่วงทศวรรษ 1980
การที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ทำให้พวกเธอเสี่ยงตกเป็นเหยี่อของการล่วงละเมิด มีหลายคนที่ต้องกลับบ้านพร้อมกับโลงศพ หลายคนถูกนายจ้างทุบตีอย่างรุนแรง จนมีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง บางคนถูกส่งตัวกลับบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
บางครั้ง บรรดาคุณแม่เหล่านี้ก็กลับบ้านมาพร้อมกับลูกใหม่ที่เกิดจากการความสัมพันธ์ทางเพศทั้งที่สมยอมและถูกบีบบังคับ
เด็ก ๆ เหล่านี้ มักจะถูกเรียกว่า อะนัก โอแลห์-โอแลห์ หรือ เด็กของฝาก
การที่พวกเขาเป็นลูกผสมจากชาติอื่น ทำให้ดูเด่นกว่าเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน
ฟาติมาห์ วัย 18 ปี กล่าวว่า บางทีเธอก็ชอบที่มีคนให้ความสนใจ
“ผู้คนมักจะมองฉันด้วยความประหลาดใจ ฉันดูไม่เหมือนคนอื่น บางคนบอกว่า ‘โอ้ หนูสวยมาก เพราะหนูมีเชื้อสายอาหรับ’ นั่นทำให้ฉันดีใจ” เธอพูดพร้อมกับหัวเราะอย่างประหม่า
แต่กลุ่มสิทธิผู้อพยพหลายกลุ่มบอกว่า เด็กของฝาก มักจะถูกตีตรา และถูกแกล้งที่โรงเรียน
ฟาติมาห์ ไม่เคยเจอหน้าพ่อชาวซาอุดีอาระเบียของเธอ แต่เขาได้ส่งเงินมาให้แม่เธอ ทำให้เธออยู่บ้านเลี้ยงลูกได้ จากนั้นไม่นาน เขาก็เสียชีวิต หลังจากนั้นชีวิตความเป็นอยู่ก็ยากลำบาก แม่ของฟาติมาห์ จึงเดินทางจากลูกไปอีกครั้งเพื่อหางานทำในซาอุดีอาระเบีย
“เรื่องที่ทำให้แม่ฉันตัดสินใจเดินทางไปก็คือ น้องชายคนเล็กของฉันมักจะถามว่า ‘เมื่อไหร่เราจะมีเงินซื้อมอเตอร์ไซค์’ เมื่อเขาเห็นคนใช้โทรศัพท์มือถือใหม่เขาก็จะพูดว่า ‘เมื่อไหร่เราจะมีแบบนั้นบ้าง'” ฟาติมาห์ กล่าว
เธอกล่าวต่อทั้งน้ำตาว่า “ถ้าแม่ไม่ไปซาอุดีอาระเบีย เราก็คงไม่มีเงินพอใช้กินอยู่”
เมื่อสัญญาณเสียงบอกว่าทำละหมาดในช่วงค่ำเสร็จสิ้นลงแล้วดังไปทั่วหมู่บ้าน เด็ก ๆ ต่างก็พากันออกจากมัสยิดไปยังบ้านเก่าหลังใหญ่ที่สร้างโดยชาวดัตช์ ในสมัยที่อินโดนีเซียเป็นอาณานิคม รองเท้าแตะถูกถอดกองไว้ที่ขั้นบันได
เด็ก ๆ แต่ละคนเหล่านี้ พ่อหรือแม่ หรือไม่ก็ทั้งพ่อและแม่ ทำงานในต่างประเทศ พวกเขาพากันมาที่นี่เพื่อเข้าชมรมหลังเลิกเรียน ที่ดำเนินการโดยผู้หญิงในพื้นที่ และกลุ่มสิทธิผู้อพยพ
ขณะที่เด็กพากันเข้ามาในชุดที่สวมผ้าคลุมผมสีสดใส และโสร่งลายหมากรุก ครูก็จดรายชื่อประเทศที่พ่อแม่ของเด็ก ๆ เหล่านี้ทำงานอยู่ “มาเลเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, สิงคโปร์ ส่วนคนนี้อาหรับ คนนี้มาเลเซีย” เธอเล่า
บ้านหลังดังกล่าวเป็นของซูปรีฮาตี ซึ่งเดินทางไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ลูกชาย 2 คนยังแบเบาะ
เธอบอกว่า มันเป็นการเสี่ยงโชคทางอารมณ์ที่คุ้มค่า
“ฉันต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่มันก็กลายเป็นผลดี”
เธอสามารถเก็บเงินส่งเสียลูกชายจนเรียนจบมัธยมปลายได้ และตอนนี้ก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบาย เธอไม่ต้องทำงานอีกต่อไป เพราะลูกชายเลี้ยงดูเธอ
แต่เธอรู้ว่ามันลำบากมากแค่ไหน เธอจึงได้ก่อตั้งกลุ่มช่วยเหลือนี้ขึ้น เพื่อหวังว่าจะสร้างครอบครัวให้แก่เด็ก ๆ ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
เธอบอกว่า “การเติบโตมาจากการถูกญาติเลี้ยงดู ต่างจากการที่มีแม่คอยดูแลอยู่เคียงข้าง มันเป็นความรักที่ไม่เหมือนกัน เด็ก ๆ มีแนวโน้มที่จะเป็นคนเก็บตัว และขาดความมั่นใจ”
เธอบอกว่า กิจกรรมหลังเลิกเรียนที่บ้านของเธอ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น
“เราช่วยพวกเขาทำการบ้าน และเราเห็นว่า พวกเขาต้องการเรียนรู้อย่างมาก เราเรียกมันว่าชั้นเรียนอัจฉริยะ และตอนนี้ พวกเขาก็ไม่ต่างจากเด็กคนอื่น ๆ ที่โรงเรียน เราเห็นพวกเขาร่าเริงมาก”
ยูลี อาฟริอานา ซาฟิตรี มาถึงชั้นเรียนช้า เธอมีพี่น้อง 5 คน และเพิ่งทำอาหารเย็นให้พวกเขารับประทาน
ยายของเธอ ซึ่งเคยช่วยเหลือเธอ เสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้น เธอจึงต้องทำหน้าที่ทำครัว เธอกล่าว หรือพ่อเธอก็มาทำบ้างเป็นครั้งคราว
แม่ของเธอเดินทางไปทำงานตอนที่น้องสาวคนเล็กสุด อายุได้ไม่ถึงปี และใช้เวลาพักใหญ่กว่าที่จะส่งเงินกลับมา จากนั้นก็ขาดการติดต่อ แต่พวกเขาก็ไม่คิดว่า เธอจะเจอเรื่องเคราะห์ร้ายอะไร
ต่างจากเด็ก ๆ ในวานาซาบา คนอื่น ๆ ยูลี อาฟริอานา ซาฟิตรี ดูเหมือนจะไม่ทุกข์ใจจากการพลัดพรากจากแม่
“ฉันเกลียดเวลามีคนมาสงสารเรา ฉันไม่ชอบเลยจริง ๆ เวลาที่คนบอกว่า ‘โอ้ หนูน่าสงสาร แม่ไม่อยู่ใกล้ ๆ’ ฉันอยู่นี่ และกำลังดูแลน้อง ๆ ของฉันอยู่ และเราไม่ได้รู้สึกว่าขาดอะไรไปเลย” เธอบอกฉัน
“น้อง ๆ ของฉันจำแม่ไม่ได้เลย และพวกเขาไม่เคยร้องไห้หาแม่ พวกเขาหันไปหาพ่อ พ่อทำอาหารและล้างจาน ถ้าพ่อไม่ทำงาน เราก็จะทำงานบ้านด้วยกัน”
เธอบอกฉันอย่างภูมิใจว่าในโรงเรียนเธอมักจะได้คะแนนสูงสุดในชั้นเรียน และเธออยากจะเข้าร่วมกองทัพเรืออินโดนีเซีย
คนงานอพยพของอินโดนีเซียมากกว่า 2 ใน 3 เป็นผู้หญิง เงินที่พวกเธอส่งกลับบ้าน ทำให้ลูก ๆ ฝันถึงสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนได้
เอลี ซูซีอาวาตี ไม่ได้พบหน้าแม่นาน 9 ปีแล้ว แต่ค่าจ้างที่แม่เธอได้รับ ทำให้เธอได้กลายเป็นคนแรกในครอบครัวที่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
เธอกำลังเรียนด้านการเงินอิสลามที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองมาตารัม เมืองหลวงระดับภูมิภาค และเธอบอกว่า เธอเริ่มเข้าใจถึงความเสียสละของแม่แล้ว
“ถ้าเธอไม่ไป ฉันก็คงไม่สามารถเรียนได้ เธอทำให้ฉันใช้ชีวิตต่อไปได้ ฉันภูมิใจในตัวแม่มาโดยตลอด เธอเป็นผู้หญิงมหัศจรรย์ ไม่มีผู้หญิงคนไหนแข็งแกร่งกว่าแม่ของฉัน”
พวกเขาพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลาผ่านทางวอตส์แอปป์ (WhatsApp) และเฟซไทม์ (Facetime)
“ฉันบอกแม่ตลอดว่า ฉันอยู่ไหน และขออนุญาตแม่ออกไปข้างนอก เราไม่ได้เจอตัวกัน แต่เราติดต่อกันโดยตลอด แม่รู้ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตของฉัน”
ที่บริเวณระเบียงมัสยิดขนาดใหญ่ของเมือง เธอวิดีโอคอลหาแม่ เพื่อให้ฉันได้คุยกับแม่ของเธอ
มาร์เตีย บอกว่า ทุกอย่างราบรื่นดีในซาอุดีอาระเบีย ครอบครัวที่เธอทำงานด้วยใจดี และจ่ายเงินเดือนเธอดีและตรงเวลา
เธอบอกฉันว่า “เรื่องต่าง ๆ ไม่ง่ายสำหรับครอบครัวเธอ เราต้องดิ้นรน”
“แน่นอนว่า ฉันคิดถึงเอลี แต่ความเป็นจริงของสถานการณ์ของเรา ทำให้เราต้องแยกจากกัน ฉันภูมิใจในตัวเธอมาก ที่เธอเรียนหนังสือหนัก”
เธอบอกว่า เธอจะกลับบ้านตอนที่เอลีเรียนจบปริญญาแล้ว เอลีบอกพร้อมกับรอยยิ้มว่า อีกประมาณ 3 ปี
ฉันบอกเธอว่า เอลีบอกว่า เธอเป็นผู้หญิงมหัศจรรย์
“โอ้ ฉันดีใจมากที่ได้ยินเช่นนั้น” เธอหัวเราะ และฉันรู้สึกว่า ฉันเห็นน้ำตาในดวงตาของเธอ
เมื่อวางสายโทรศัพท์ เอลียืนยันว่า เธอจะไม่ทำงานเหมือนกับแม่
“การขาดการศึกษา ทำให้พ่อแม่ของฉันต้องเดินทางไป และนั่นเป็นการตบหน้าฉาดใหญ่ปลุกให้ฉันตื่นขึ้น ถ้าฉันต้องไปทำงานในต่างประเทศ ฉันจะไม่ไปที่นั่น ฉันจะไปทำธุรกิจ!”
คุณอาจกำลังสนใจสิ่งนี้
- อินโดนีเซียลุกเป็นไฟ ผู้ชุมนุมลุกฮือประท้วง หลังประกาศผลเลือกตั้งเป็นทางการ
- ศรีลังกาไล่ครูสอนศาสนาอิสลาม200คนออกจากประเทศ
- เจ้าบ่าว แอบงง หลังเห็น ใบหน้าเจ้าสาวที่เปลี่ยนไป สวยราวกับตุ๊กตาบาร์บี้
- เตือนคนไทยไปอินโดฯ หลีกเลี่ยงพื้นที่หน้า กกต.
- อินโดนีเซียเดินหน้า 5 ปี ย้ายเมืองหลวง เพราะปัญหาประชากรแน่นขนัด
ที่มา liekr