“โฆษก กห” ยันยังจำเป็นต้อง “เกณฑ์ทหาร” รองรับภารกิจด้านความมั่นคงที่หลากหลาย
“โฆษก กห.” ยันยังจำเป็นต้อง “เกณฑ์ทหาร” รองรับภารกิจด้านความมั่นคงที่หลากหลาย เผยยอดสมัครใจเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอ / ยอมรับมี”พลทหารรับใช้”แต่จำนวนน้อยมาก อย่าติดภาพจำ”ผู้กองยอดรัก” วอนพรรคการเมืองอย่านำไปหาเสียงลอยๆ ทำลายเกียรติภูมิ ขวัญกำลังใจ ส่งผลต่อผู้ที่สมัครใจเข้ามาเป็น / ยกตัวเลขประเทศประชาธิปไตย กลับมาใช้ระบบเกณฑ์ทหารอีกครั้ง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ก.พ.ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงการเกณฑ์ทหารที่มีบางพรรคการเมืองได้นำไปหาเสียงจะยกเลิกการเกณฑ์ทหารว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 60 ได้กำหนดหน้าที่ของรัฐในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่ง สถาบันชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมถึงรักษาเอกราชอธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการให้มีการทหารไว้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยกองทัพมีหน้าที่เตรียมกำลัง ป้องกันราชอาณาจักร และใช้กำลังตามอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตแดนทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ภาพรวมของทหารมีการใช้กำลัง 1ใน 3 ไปปฎิบัติภารกิจป้องกันชายแดน รวมถึงในพื้นที่จังหวัดใช้แดนภาคใต้ และในส่วน 2 ใน 3 ต้องฝึกตามวงรอบ และปฏิบัติภารกิจ ดูแลความมั่นคงภายในประเทศ ทหารกองประจำการ จึงเป็นกำลังพลหลัก ของกองทัพ ที่หมุนเวียนกันเข้ามาทำหน้าที่รับใช้ชาติ รวมถึงการดูแลปกป้องภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น ภัยยาเสพติด ,ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ภัยก่อการร้ายอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์การแก่งแย่งชิงทรัพยากร รวมถึงโรคระบาดต่างๆ ที่เป็นภัย ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากสงคราม ซึ่งรัฐต้องดูแลเรื่องเหล่านี้ด้วยสำหรับความต้องการทางทหารกองประจำการนั้น ใน 1 ปีมีชายไทย ลงทะเบียนเป็นทหารกองเกินไว้ประมาณ 6-7 แสนคน แต่เข้ารับการตรวจเลือกประมาณ 4 -5 แสนคนส่วนที่หายไป เพราะร่างกายไม่ผ่านการคัดเลือกและอีกส่วนหนึ่งก็มีการขอผ่อนผัน ซึ่งในส่วนความต้องการของกองทัพมีประมาณ 1 แสนคน หรือเป็น 1ใน5 ของยอด ที่เข้ารับการตรวจเลือก ที่ผ่านมาในแต่ละปีมีคนสมัครใจเป็นทหารกองประจำการประมาณ 20% แต่ในปีพ.ศ. 2557 -2558 มียอดสมัครใจ 45%
พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า สถานภาพกำลังพลในกองทัพ แบ่งเป็นส่วนประชากร 4% ส่วนสนับสนุนการรบ 7% ส่วนภูมิภาค 14% ส่วนกำลังรบ 63% ส่วนส่งกำลังบำรุง 4% และส่วนการฝึกศึกษา 8% ซึ่งภารกิจของทหารกองประจำการ จะแบ่งเป็นการเตรียมกำลัง และปฏิบัติภารกิจภายในประเทศ 67% ส่วนภารกิจป้องกันชายแดน 33% ที่ผ่านมาเรามีบทเรียนจากในอดีตเมื่อเวลาเกิดสงครามคนไม่มีความพร้อม เพราะไม่ได้รับการฝึกจึงทำให้เกิดการสูญเสียเป็นจำนวนมาก ทางรัฐบาลในสมัยนั้น จึงได้ตราระเบียบการรับราชการทหารปี พ.ศ. 2497 ออกมา เพื่อให้ชายไทยทุกคน เข้ามารับการตรวจเลือกการเป็นทหาร เพื่อดูแลประเทศชาติ เตรียมกำลังและความพร้อมสามารถเผชิญต่อภัยสงครามได้
ทั้งนี้ในโลกนี้มีอยู่ 39 ประเทศ ที่ยังใช้ระบบการเกณฑ์ทหารอยู่ และ 13 ประเทศ ที่ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปแล้ว และ 29 ประเทศที่ไม่เกณฑ์หาร แต่ที่ผ่านมาหลายประเทศ ที่เคยยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหาร แล้วนำกลับมาพิจารณาใช้อีกเช่น ประเทศสวีเดน ,ประเทศลิทัวเนีย ,และประเทศจอร์แดน ส่วนที่ประเทศอิตาลี โรมาเนีย,เยอรมนี และฝรั่งเศส กำลังพิจารณาหลักเกณฑ์การเกณฑ์ทหารกลับมาใช้อีกส่วนประเทศไทยนั้น เราทำแบบผสม เราจำเป็นต้องใช้การตรวจเลือกทหาร แบบผสมทั้งความสมัครใจ และเกณฑ์ทหารควบคู่กัน ทั้งนี้ทหารที่รับราชการมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1.กลุ่มที่มีความต้องการเป็นทหาร โดยความสมัครใจ 2. กลุ่มที่ถือว่าเป็นหน้าที่ของชายไทย ที่ต้องทำตามกฏหมาย กลุ่มนี้ก็จะเข้ามารับการตรวจเลือกและจับสลากใบดำ-ใบแดง และ 3.คือกลุ่มที่ไม่ต้องการรับราชการทหารเลย แม้จะมีแรงจูงใจมากเท่าไหร่ก็ตาม
“อย่างไรก็ตามระบบการเกณฑ์ทหาร กำลังมีการพิจารณาควบคู่ไปกับระบบกำลังสำรอง เช่น นักศึกษาวิชาทหาร ที่มีการเปิดรับนักศึกษาวิชาทหาร สามารถใช้สิทธิ์ในการเรียนหลักสูตรวิชาทหารเพื่อลดเวลา หรือได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือก หรือสามารถไปบรรจุอยู่ในบัญชีกำลังพลสำรอง ในชั้นยศต่างๆ เพื่อเรียกระดม ในสถานการณ์วิกฤติ วันนี้เราเปิดโอกาสให้ชายไทยได้มีหลายช่องทาง ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารทั้งหมด”โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว
คุณอาจกำลังสนใจสิ่งนี้
- ทหารอุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวง ร.9 แนบอก ท่ามกลางลมพายุพัดกระหน่ำ
- สุดยอด10 อันดับประเทศที่มีทหารหญิงที่สวยที่สุดในโลก
- เคลียร์ดราม่า! โรคหอบหืด รักษาให้สงบ จนเป็นทหารได้
- ชิน ชินวุฒ กับวันนี้ที่เข้มแข็งดั่งชายชาติทหาร
- ดีใจจนลืมตัว!! "พระรอด" จับได้ใบดำถึงกับจีวรบิน (มีคลิป)
ที่มา มติชน